COVID-19

ไขข้อข้องใจ วัคซีน’ไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า’ ที่กำลังจะมาไทย ฉีดใครบ้าง เช็คเลย

ไฟเซอร์ จากสหรัฐ 1.5 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 1.05 ล้านโดส  จากญี่ปุ่น ฉีดใครบ้าง กรมควบคุมโรค พูดชัด แนวทางการบริหารจัดการ เน้นฉีดให้กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทย ได้รับแจ้งข่าวการบริจาควัคซีน ไฟเซอร์ จากสหรัฐ จำนวน 1.5 ล้านโดส และได้รับบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากประเทศญี่ปุ่นแล้ว จำนวน 1.05 ล้านโดส เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย

ไฟเซอร์

กรมควบคุมโรค เตรียมดำเนินการกระจายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไปยังพื้นที่เป้าหมายตามแนวทางที่ ศบค. กำหนด คือ พื้นที่ที่มีการระบาด และพื้นที่ที่เปิดให้ท่องเที่ยว โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะเป็นผู้บริหารจัดการในพื้นที่ต่างจังหวัด

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะบริหารจัดการผ่านโรงพยาบาลในพื้นที่ และกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นผู้ประสานหลัก ในการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติ

แนวทางการบริหารจัดการวัคซีน ไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส จะฉีดให้กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

1. บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 (Booster Dose จำนวน 1 เข็ม)

2. ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง

3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง

4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต

จัดการวัคซีน

ทั้งนี้ จะฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ยกเว้นกรณีบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า Booster Dose 1 เข็ม โดยการจัดสรรวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เข็ม 3 จะมีการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 นี้

แนวทางการบริหารจัดการ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1.05 ล้านโดส นั้น จะฉีดให้กับ 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

1. ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง

2. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง

3. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แผนการบริหารจัดการวัคซีน อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักเพื่อลดความสับสน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือบุตรหลาน พาผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรังไปรับการฉีดวัคซีน เพื่อลดความรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต ในสถานการณ์ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ลดกิจกรรมนอกบ้านที่ไม่จำเป็น เมื่อกลับถึงบ้านต้องทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้ามาติดต่อสู่คนในครอบครัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo