COVID-19

แพทยเตือน! ตรวจโควิดด้วย Antigen test kit ได้ ‘ผลปลอม’ ไม่เสี่ยงไม่ต้องใช้

ตรวจโควิดด้วย Antigen test kit กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือน ระวัง “ผลบวกปลอม-ผลลบปลอม” ไม่เสี่ยงไม่จำเป็นต้องใช้ เผยสาเหตุตรวจครั้งแรกพบเชื้อบวก ตรวจซ้ำไม่พบเชื้อ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า การใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen test kit: ATK) จะเป็นชุดตรวจโควิดอย่างง่าย โดยประชาชนต้องการตรวจด้วยตัวเอง จะมี 2 ทางคือ 1. ซื้อจากร้านขายยา 2. ร้องขอไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่นในโครงการ หรือคลินิกใกล้บ้านที่ได้รับการประสานงานให้ประชาชน สามารถเข้ารับชุดตรวจ ATK ได้ตามเหตุผลที่จะต้องตรวจ

Antigen test kit

อย่างไรก็ตาม หากมั่นใจว่า ไม่มีความเสี่ยง ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ แต่หากเป็นผู้ที่มีโอกาสต้องไปสัมผัสผู้คน มีโอกาสติดเชื้อ ก็สามารถใช้ชุดตรวจนี้ได้ ตามช่องทางดังกล่าว

ทั้งนี้ หากนำมาตรวจแล้วให้ผลลบ สามารถแปลความได้ 2 กรณีคือ 1.ไม่ติดเชื้อ 2. ติดเชื้อแต่ปริมาณน้อย หรือ ตรวจเร็วเกินไป เชื้อไม่มากพอที่จะทำให้ชุดตรวจขึ้นผลบวก

ดังนั้น หากผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ตรวจเพื่อความสบายใจ ก็สังเกตอาการ ป้องกันตัวเองตามมาตรการ ส่วนกรณีที่มีความเสี่ยง แต่ตรวจครั้งแรกให้ผลลบ ก็ตรวจซ้ำได้ใน 3-5 วัน หรือตรวจซื้อเมื่อมีอาการป่วย โดยระหว่างรอตรวจซ้ำ ก็ให้เข้มงวดมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

ส่วนกรณีให้ผลบวก จะต้องเข้ามาสู่ระบบการรักษา สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขยายไปถึงคลินิกชุมขนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีกว่า 100 แห่งใกล้บ้าน โดยนำชุดตรวจที่ให้ผลบวก เข้ารับคำปรึกษาจากหน่วยบริการดังกล่าว ซึ่งจะมีการตรวจซ้ำ ในกรณีที่ผลบวกกำกวม หรือชุดตรวจไม่ได้มาตรฐาน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยบริการ

นพ.ศุภกิจ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

อย่างไรก็ตาม หากผลบวกแล้ว แต่ไม่มีอาการ แข็งแรงดี ก็จะให้ทำมาตรการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation: HI) เข้าระบบ และรับอุปกรณ์ดูแลตัวเอง เช่น เครื่องวัดไข้ วัดออกซิเจน มีแพทย์ติดตามอาการเป็นระยะ หรืออาจส่งต่อไปที่ ศูนย์พักคอยแยกกักในชุมชน (Community Isolation: CI)

ขณะที่หากเป็นผู้ติดเชื้อแล้วมีอาการ กลุ่มป่วยสีเหลืองหรือแดง จะต้องเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ดำเนินตามกระบวนการทางการแพทย์ ด้วยการตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง หากให้ผลลบ ก็แสดงว่าไม่ได้มีการติดเชื้อ แต่อาจจะป่วยด้วยสาเหตุอื่น

ปัจจุบัน มีบริษัทผู้นำเข้าชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แล้ว 26 บริษัท โดยอยู่ระหว่างการปรับจากใช้โดยบุคลากรแพทย์ มาเป็นการใช้สำหรับประชาชน เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ตรวจเอง ด้วยวิธีการเก็บเชื้อจากโพรงจมูก ตรวจจากน้ำลาย

เตือนใช้ Antigen test kit ระวัง ผลบวก-ลบ “ปลอม”

การตรวจหาเชื้อที่อาจให้ผลลบปลอม หมายถึง มีการติดเชื้อแต่ชุดตรวจให้ผลลบ เกิดได้จาก 3 สาเหตุ ดังนี้

  • เกิดได้จากช่วงแรกของการติดเชื้อ ไวรัสเพิ่มจำนวนไม่มากพอ จึงตรวจไม่พบ
  • เวลาเก็บสาคัดหลั่ง ผู้ตรวจแยงไม้ไม่ถึงโพรงจมูก เพราะอาจกลัวเจ็บ ก็จะไม่ได้สารคัดหลั่ง ที่มีองค์ประกอบ หรือเซลล์ของไวรัสติดออกมาด้วย ฉะนั้น ก็จะตรวจไม่พบ
  • อาจทำขั้นตอนบางอย่างผิด เช่น อ่านผลช้าหรือเร็วเกินไป น้ำยาก็อาจทำปฏิกิริยากับสารคัดหลั่งไม่มากพอ

ผลปลอม

ดังนั้นเมื่อเป็นผลลบ อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ แต่ต้องวางมาตรการป้องกันโรค และตรวจหาเชื้อซ้ำในครั้งต่อไป

การตรวจหาเชื้อที่อาจให้ผลบวกปลอม แต่ครั้งต่อมาเป็นลบ และกรณีติดเชื้อแล้ว ติดซ้ำได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ อธิบายว่า การติดเชื้อไปแล้วครั้งหนึ่ง เหมือนเป็นการฉีดวัคซีนโดยธรรมชาติ แต่หลังจากไวรัสมีการกลายพันธุ์ ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดิมอาจไม่มากพอต่อสู้กับเชื้อรุ่นใหม่ เช่น เดลตา ทำให้ป่วยซ้ำได้ แต่โดยปกติเราจะพบกรณีแบบนี้ไม่มาก หากติดเชื้อซ้ำก็จะไม่ค่อยรุนแรง

ส่วนการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ตรวจครั้งแรกเป็นบวก อีก 2 วันต่อมาไปตรวจพบเป็นลบ ก็เป็นไปได้ เพราะการตรวจครั้งแรกเป็นบวก อาจเป็นระยะท้ายของการติดเชื้อ เมื่อตรวจครั้งต่อมาก็อาจเป็นลบได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo