COVID-19

อ่านก่อนใช้! ข้อแนะนำ-ข้อควรระวัง ชุดตรวจโควิด-19 ‘Antigen Test Kit’

ชุดตรวจโควิด-19 ‘Antigen Test Kit’ หลังออกประกาศใช้ได้ดัวยตัวเอง กรมวิทย์ฯ เปิดวิธีการใช้งาน ข้อแนะนำ ข้อควรระวัง ทุกขั้นตอน ครั้งแรกเจอผลลบ ต้องตรวจซ้ำ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่า ประชาชนมีความต้องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอแนะนำแนวทางการใช้ ชุดตรวจโควิด-19 แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit) หรือ ATK ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น สำหรับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการตรวจด้วยตนเอง ดังนี้

Antigen Test Kit

1. ชุดตรวจที่ใช้ ต้องผ่านการประเมิน และขึ้นทะเบียนแล้วกับ อย.

2. ตัวอย่างที่ใช้ตรวจเก็บจาก nasopharyngeal (โพรงหลังจมูก), oropharyngeal (ช่องปากและลำคอ) nasal (โพรงจมูก) หรือน้ำลายตามที่ชุดตรวจกำหนด

3. ใช้เพื่อการคัดกรองเบื้องต้น ตามแนวทางที่แนะนำ ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อ ให้พิจารณาตรวจ ด้วยวิธี RT-PCR ก่อน กรณีตรวจผู้ป่วยจำนวนมาก ให้พิจารณาใช้ แอนติเจน เทสต์ คิทถ้าให้ผลบวกให้ยืนยันด้วย RT-PCR
  • ผู้สงสัยแต่ไม่มีอาการ สามารถพิจารณาตรวจเบื้องต้นด้วย Antigen Test Kit หากผลเป็นลบ ให้ทำการตรวจซ้ำในอีก 3-5 วัน แต่หากมีความเสี่ยงสูง ให้พิจารณาตรวจด้วย RT-PCR
  • กรณีที่ใช้ แอนติเจน เทสต์ คิท ทำการตรวจด้วยตนเอง ควรเลือกชุดทดสอบ ที่สามารถเก็บสิ่งส่งตรวจ ด้วยตนเองได้ง่าย เช่น เก็บจากโพรงจมูกหรือน้ำลาย เมื่อมีผลบวกให้แจ้งสถานบริการที่กำหนดใกล้บ้าน เพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

4. ส่วนการเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด 19 อาจพิจารณาร่วมกับการใช้วิธีอื่น ๆ อีก เช่น การตรวจน้ำลาย การตรวจแบบ Pooled Samples, LAMP, CRISPR เป็นต้น

วิธีใช้งาน

ข้อแนะนำ การใช้ Antigen Test Kit ทดสอบด้วยตนเอง

1. ตรวจสอบว่าแต่ละชุดทดสอบนั้น มีคำแนะนำที่แนบมากับชุดทดสอบ ว่าสามารถใช้กับตัวอย่างที่เก็บจาก บริเวณใด เช่น nasal (โพรงจมูก), nasopharyngeal (โพรงหลังจมูก) oropharyngeal (ช่องปากและลำคอ) หรือน้ำลาย เป็นต้น ควรเลือกใช้ชุดทดสอบที่สามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองได้ง่าย

2. ศึกษารายละเอียด ขั้นตอนวิธีการทดสอบ การแปลผล จากเอกสารกำกับชุดทดสอบ ก่อนเริ่มทำการทดสอบ

3. การเก็บตัวอย่าง และดำเนินการทดสอบ

  • ล้างมือให้สะอาด พร้อมสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน (PPE) ก่อนทำการเก็บตัวอย่าง
  • ทำการเก็บตัวอย่างให้ถูกต้อง (ตามคำแนะนำวิธีการเก็บตัวอย่าง)
  • ทำการทดสอบ ตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารกำกับ อย่างเคร่งครัด
  • การเก็บตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ อาจทำให้ผลการทดสอบผิดพลาดได้
นพ.ศุภกิจ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

4. ข้อควรระวัง

  • ชุดทดสอบถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ชุดทดสอบกำหนด ก่อนนำมาใช้งาน
  • ตรวจสอบวันหมดอายุของชุดทดสอบ
  • เตรียมพื้นที่สำหรับใช้ทดสอบให้สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน
  • อย่าเปิด หรือฉีกซองที่บรรจุตลับทดสอบ จนกว่าจะเริ่มทำการทดสอบ
  • อ่านผลตามเวลาที่ชุดทดสอบกำหนด (การอ่านผลเร็วหรือช้าเกินไปอาจเกิดความผิดพลาดได้)
  • ไม่นำอุปกรณ์ หรือตลับทดสอบอันเดิม มาใช้ซ้ำ
  • นำชุดทดสอบที่ทดสอบแล้ว พร้อมอุปกรณ์ของชุดทดสอบ ที่เหลือจากการใช้งานแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ และแยกใส่ถุงปิดให้มิดชิด และทิ้งให้เหมาะสม
  • ล้างมือให้สะอาดภายหลังทำการทดสอบ

การปฏิบัติตนหลังทราบผลการทดสอบ

กรณีผลการทดสอบให้ ผลบวก ให้แจ้งหน่วยบริการใกล้บ้านที่กำหนด และแยกกักตัวเองจากผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อ เช่น แยกห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการหายใจลำบาก ควรติดต่อขอรับเข้าการรักษาหรือแจ้งผู้ใกล้ชิดกับตนเองให้ทราบ เพื่อลดความเสี่ยง จากการสัมผัส และควรได้รับการทดสอบการติดเชื้อต่อไป

ส่วนกรณีผลการทดสอบให้ ผลลบ หากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง อาจอยู่ในระยะฟักตัว ควรทำการแยกตัว และทดสอบซ้ำอีกครั้งภายหลัง 3-5 วัน หรือหากมีอาการของโรคโควิด 19 ควรทำการทดสอบซ้ำทันที

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo