COVID-19

‘ซิโนแวค’ ในโลกความเป็นจริง อาจารย์แพทย์ มธ. เปิดรายงานล่าสุดจากชิลี

อาจารย์แพทย์ มธ. เปิดผลศึกษาการใช้ ซิโนแวค ในชิลี พบป้องกันความรุนแรงของโรคได้ ควรฉีดครบ 2 เข็ม แต่ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อต่ำกว่าวัคซีนกลุ่ม mRNA อย่างชัดเจน

ผศ.นพ.บันดาล ซื่อตรง อาจารย์แพทย์หน่วยโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Bandarn Suetrong” เผยผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน Sinovac จากประเทศชิลี ที่พบว่า ยังมีประสิทธิผลลดความรุนแรงของโรค แต่ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อต่ำ หวั่นสู้สายพันธุ์เดลต้าไม่ไหว โดยระบุว่า

ซิโนแวค

“ประสิทธิผลในโลกความจริงของวัคซีน Sinovac (Real world effectiveness of Sinovac vaccine)

เมื่อคืนนี้ ในวารสารที่ยิ่งใหญ่ ในวงการแพทย์ที่ชื่อ NEJM ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาขนาดใหญ่ (Phase 4 study) ในการใช้ วัคซีน Sinovac ที่ประเทศชิลีออกมานะครับ

การศึกษานี้ ทำการศึกษาในประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปที่ประเทศชิลี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์-1 พฤษภาคม 2564 โดยมีประชากรในการศึกษาทั้งสิ้นมากถึง 10.2 ล้านคน แบ่งเป็นได้รับวัคซีนครบสองเข็ม 4.2 ล้านคน ได้เข็มเดียว 5.5 ล้านคน และยังไม่ได้รับวัคซีน 5 แสนคน

โดยมีผลลัพธ์ที่สนใจ (primary outcome) 4 อย่าง คือ การติดเชื้อโควิด การต้องเข้ารักษาตัวในรพ. การต้องเข้ารักษาตัวในไอซียู และการเสียชีวิตจากโควิด

ผลการศึกษาพบว่า วัคซีนมีประสิทธิผล (Vaccine effectiveness:VE) ต่อผลลัพท์ต่าง ๆ ทั้งสี่ส่วน ดังนี้นะครับ

VE ในการป้องกันการติดเชื้อ = 65.9%(65.2-66.6)

VE ในการป้องกันการนอนรพ. = 87.5%(86.7-88.2)

VE ในการป้องกันการเข้าICU = 90.3%(89.1-91.4)

VE ในการป้องกันการตาย = 86.3%(84.5-87.9)

ส่วนการรับวัคซีนไปเพียงหนึ่งเข็ม จะมี VE ที่ต่ำมากเพียงแค่ 15% ซึ่งถือว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้นะครับ

ศึกษาซิโนแวค

ซิโนแวค ป้องกันอาการรุนแรง ควรรีบฉีด 2 เข็ม เร็วที่สุด

ความคิดเห็นและข้อแนะนำสำหรับประชาชนโดยทั่วไป

วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดที่มีอาการรุนแรงได้ดีมาก ในสภานการณ์ที่การระบาดของโรคโควิดในประเทศไทย รุนแรงมาก ๆ และกำลังในการให้บริการทางการแพทย์ในปัจจุบันของประเทศ อยู่ในภาวะที่ตึงตัวอย่างมาก

ถ้ามีโอกาสได้รับวัคซีน Sinovac ควรรีบรับให้ครบสองเข็มโดยเร็วที่สุด ไม่ควรรอวัคซีนชนิดอื่น เนื่องจากจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด และมีอาการรุนแรง และอาจจะไม่สามารถหาเตียงรับรักษาได้ง่ายนักในปัจจุบัน และท่านยังสามารถรับวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ ในภายหลัง

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สำหรับผู้ที่กำหนดนโยบายวัคซีนของประเทศ

เนื่องจากวัคซีน Sinovac มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่ต่ำกว่าวัคซีนชนิด mRNA อย่างชัดเจน และในสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อ (Reproductive number: R0) ที่สูงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างชัดเจน

แนะรัฐ หาวัคซีนประสิทธิภาพสูง มาเป็นวัคซีนหลักระยะยาว

การที่จะทำให้ประเทศไทยของเรา สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิดได้ และสามารถเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่สูงเพียงพอ และมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนมากเพียงพอ ในระยะเวลาที่รวดเร็วเพียงพอ

ดังนั้น จึงควรพิจารณาเลือกใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มาใช้เป็นวัคซีนหลักของประเทศในระยะยาวเท่านั้น และควรใช้วัคซีนที่มีคุณสมบัติหลัก ที่ป้องกันการเสียชีวิตแต่ป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ดีมาก ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และควรจัดหา สั่งซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด มาใช้เป็นวัคซีนหลักให้เพียงพอ ในเวลาที่เร็วที่สุดนะครับ

ปล. ข้อสังเกตเพิ่มเติม ในการศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าว ในประเทศชิลี มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าน้อยมาก ๆ นะครับ ซึ่งไม่เหมือนกับในประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้นค่า VE ที่ได้จากการศึกษานี้ อาจจะไม่ได้เป็นตัวแทน VE ของ Sinovac ในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้านะครับ ซึ่งมีโอกาสสูงมาก ๆ ที่ค่า VE ของ Sinovac vaccine ต่อสายพันธุ์เดลต้า จะลดต่ำลงได้ ขอเพิ่มข้อมูลจำนวนผู้ป่วยสายพันธุ์เดลต้าล่าสุดในประเทศชิลีให้ในรูปนะครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo