COVID-19

เทียบประสิทธิภาพวัคซีน ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า-mRNA ต่อสายพันธุ์เดลตา

เทียบประสิทธิภาพวัคซีน ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และ วัคซีน mRNA กับสายพันธุ์เดลตา หมอทวียัน แอสตร้าฯ ป้องกันได้ วัคซีนชนิด mRNA กระตุ้นภูมิคุ้มกันดีมาก แต่ยังหวั่นไวรัสกลายพันธุ์

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวในงานเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” ที่ กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็น เทียบประสิทธิภาพวัคซีน ที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีน mRNA ที่มีต่อสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)

เทียบประสิทธิภาพวัคซีน

นพ.ทวี กล่าวว่า เพราะในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดไวรัสโควิด จึงไม่มีใครรู้ดีที่สุด ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ข้อมูลข้อเท็จจริง ที่สามารถตรวจสอบได้ จากการใช้งานจริง โดยในเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น พบว่า กรณีวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายจากจีน เป็นการนำเข้ามาเฉพาะกิจ

สำหรับคุณภาพของวัคซีนซิโนแวค ข้อมูลในไทยจากเชียงราย ภูเก็ต พบว่า มีประสิทธิผลที่ใช้ในชีวิตจริงได้ผลประมาณ 71-91% ในการป้องกันโรค และคนติดโรคมีอาการน้อย

ตัวอย่างการใช้ซิโนแวค ในต่างประเทศ เช่น บราซิล อัตราการฉีดแต่ละเมืองอยู่ที่ 80-90% พบอัตราเสียชีวิตลดลง 95% แต่สายพันธุ์กลายพันธุ์ คนละสายพันธุ์กับประเทศไทย

ขณะที่ในอินโดนีเซีย ช่วงเดือนมีนาคม การฉัดในบุคลากรทางการแพทย์ พบช่วยลดการเสียชีวิตได้มาก แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีแพทย์ที่ฉีดครบ 2 เข็ม บางคนเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้กำลังติดตามข้อมูลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งในอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ เป็นสายพันธุ์เดลตา

ส่วนคำถามว่า วัคซีนซิโนแวค กับสายพันธุ์เดลตา ล่าสุดสื่อในจีนรายงานว่า มีศาสตราจารย์คนหนึ่งให้ข้อมูลว่า มีคนไข้ 166 คน พบว่า เป็นเดลตาทั้งหมด ปรากฏว่า ลดติดเชื้อในผู้สัมผัส 69% ลดปอดอักเสบได้ 73% และลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต 95% ส่วนสายพันธุ์เบตา หรือแอฟริกาใต้ ในวัคซีนซิโนแวค ไม่มีข้อมูล

เทียบประสิทธิภาพวัคซีน
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์

“ประเทศไทย เดิมเป็นสายพันธุ์อัลฟา กำลังเปลี่ยนเข้าสู่สายพันธุ์เดลตา ซึ่งตอนนี้กำลังต่อสู้กับปัญหาเดลตา”นพ.ทวี กล่าว

เทียบประสิทธิภาพวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า สู้เดลตาได้ 80-90%

กรณีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่เป็นวัคซีนหลักของไทย มีข้อมูลช่วงอินเดียระบาดหนัก พบวัคซีนแอสตร้าฯ มีประสิทธิผล 97% สำหรับที่อื่น ๆ พบว่าประมาณ 80-90% ซึ่ง แอสตร้าฯ ต่อสายพันธุ์เดลตาใช้ได้ดี และใช้ได้ดีใกล้เคียงกับวัคซีน mRNA แต่กรณีสายพันธุ์เบตา แอสตร้าฯ ป้องกันได้เพียง 10.4%

ในส่วนของ วัคซีนชนิด mRNA พบผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดีมาก มีการศึกษาวิจัยพบว่า โมเดอร์นา มีประสิทธิภาพ 94% และ ไฟเซอร์ 95% ซึ่งปัญหาใหญ่ คือ การกลายพันธุ์

เทียบประสิทธิภาพวัคซีน

ข้อมูลสัปดาห์ที่แล้ว มีวัคซีนที่ชื่อว่า เคียวแวค ของเยอรมัน ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA มีการศึกษาในอาสาสมัครยุโรป และละตินอเมริกาทั้งหมด 40,000 คน พบประสิทธิภาพลดลงเหลือ 48% แต่ลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 100% เนื่องจากมีเชื้อกลายพันธุ์

ดังนั้น ต้องติดตามการกลายพันธุ์อย่างใกล้ชิดว่า วัคซีนแต่ละตัวยังสู้ได้หรือไม่ ซึ่งก็มีการศึกษาหลายรูปแบบ คือ การดูภูมิคุ้มกันที่สร้างโดยวัคซีนนั้น ๆ มีการจัดการเชื้อกลายพันธุ์ในหลอดทดลองดีหรือไม่ หรือการศึกษาการใช้จริง ซึ่งยอมรับว่าจะช้าหน่อย ต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตาม วัคซีนยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาด ซึ่งวัคซีนที่เรามีอยู่ อย่างซิโนแวค ใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่แอสตร้าฯ ภูมิคุ้มกันสูงกว่า เร็วกว่าได้ นอกจากนี้ ทางการแพทย์ ยังต้องติดตามเรื่องผลข้างเคียงด้วย เพราะวัคซีนแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA ค่อนข้างสูง แต่รับได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo