COVID-19

เจอแล้ว!! ต้นเหตุ 7 พยาบาล ASQ ติดโควิด เชื้ออยู่ที่ ‘ลูกบิดประตู’

สธ. ตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ลูกบิดประตู ต้นเหตุบุคลากรทางแพทย์ ใน ASQ ติดโควิด ย้ำสถานประกอบการทำความสะอาดพื้นผิว ที่เป็นจุดสัมผัสร่วมกัน หรือบริเวณที่อาจจะมีการใช้มือสัมผัสซ้ำๆ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ ขณะเคสจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก เมียนมา ยอดสะสมถึง 67 รายแล้ว 

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย  กรณีความคืบหน้าในการสอบสวนโรค บุคลากรทางการแพทย์ 7 คน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ

door

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ในเคสบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานในสถานกักกันทางเลือก (ASQ ) กทม.ทั้ง 7 รายนั้น มีรายงานเพิ่มเติมจากการทำการสวอปในพื้นที่ พบเชื้อโควิด-19 อยู่บริเวณลูกบิดประตู

ดังนั้น จึงขอฝากสถานประกอบการ สำนักงานต่างๆ ให้ทำความสะอาดพื้นผิว ที่เป็นจุดสัมผัสร่วมกัน หรือบริเวณที่อาจจะมีการใช้มือสัมผัสซ้ำๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ใช้พื้นที่ร่วมกันว่ามีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม ยังคงเดิมที่ 7 ราย

ขณะที่ เชียงราย และราชบุรี ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศครบ 14 วันแล้ว โดยภาพรวมยังไม่พบกลุ่มก้อนใดระบาดภายในประเทศ ทำให้ช่วงเทศกาลปีใหม่ สามารถจัดงานสังสรรค์ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ประชาชนหมั่นล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และสแกนไทยชนะทุกครั้ง

ทางด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันโรคเขตเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับ จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ขณะนี้มีจำนวนสะสม 67 ราย โดยพบที่ จังหวัดเชียงราย 55 ราย ลักลอบเข้าไทยผิดกฎหมาย 6 ราย ติดเชื้อภายในจังหวัด 1 ราย และเข้า Local Quarantine จำนวน 48 ราย ทั้งหมดรักษาหายกลับบ้านแล้ว 20 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 35 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ล่าสุด มีผู้เข้ากักกันใน Local Quarantine รวม 248 ราย

สำหรับความก้าวหน้าการสอบสวนโรคกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อในสถานกักกันโรคทางเลือกในกรุงเทพฯ ยอดสะสม 7 รายเท่าเดิม ข้อสรุปจากการสอบสวนโรคกลุ่มก้อนนี้ เป็นการติดเชื้อจากปฏิบัติงานในสถานกักกันโรคทางเลือก

ข้อสันนิษฐาน คือ 1 ราย ติดเชื้อจากผู้เข้าพักที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และแพร่กระจายให้กลุ่มเพื่อนที่คลุกคลีนอกเวลางาน แต่ไม่ได้แพร่ต่อไปบุคลากรและเจ้าหน้าที่ในสถานกักกันฯ รายอื่นๆ

“การระบาดของกลุ่มก้อนนี้อยู่เพียงวงจำกัด สถานการณ์ควบคุมได้ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกรายถูกกักตัวตามมาตรฐาน โดยจะมีการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง โดยตรวจแล้ว 2 ครั้ง ไม่พบติดเชื้อเพิ่มเติม บทเรียนจากกรณีนี้ได้มีการทบทวนมาตรการต่างๆ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ตรวจสอบมาตรฐานและการบริหารจัดการของสถานกักกันโรคทางเลือกอย่างเคร่งครัด ส่วน รพ.เอกชน คู่สัญญาสถานกักดันโรคทางเลือกทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของบุคลากรทุกแห่ง เตรียมความพร้อมวัสดุ อุปกรณ์ และการป้องกันการติดเชื้อระหว่างปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด” นพ.วิชาญกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo