Opinions

ผลกระทบโควิด-19 ต่อ ‘Zombie Firm’ นัยต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

Avatar photo
1158

สัดส่วน บริษัทที่ประสบปัญหาความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลานาน (Zombie Firm) ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบทศวรรษที่ผ่านมา จนเป็นที่น่ากังวลต่อประสิทธิภาพการผลิตและการลงทุนในภาคธุรกิจไทย โดยสัดส่วน Zombie Firm ในปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 (Covid-19) อยู่ใกล้เคียงกับสัดส่วนก่อนเกิดวิกฤติการเงินโลกในปี 2007

ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับปัญหา Zombie Firm ในบทความนี้ Economic Intelligence Center (EIC) ได้ทำการวิเคราะห์ประเด็นนี้และพบข้อสังเกตสำคัญดังนี้

Zombie Firm

1) Zombie Firm เป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพการผลิต การทำกำไร และการลงทุนที่ต่ำกว่าบริษัททั่วไป การคงอยู่ของบริษัทเหล่านี้จึงมีแนวโน้มก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ (Resource Misallocation) และเป็นที่น่ากังวลสำหรับประสิทธิภาพและการลงทุนของภาคธุรกิจไทย

2) Zombie Firm เป็นแล้วหายยาก หายแล้วมักกลับไปเป็นอีก และมีโอกาสฟื้นตัวค่อนข้างน้อย แต่ไม่ยอมออกจากตลาด จนเป็นปัญหาที่เรื้อรังต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และมักกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดสินทรัพย์เล็กที่สุดและใหญ่ที่สุด และในกลุ่มบริษัทที่มีอายุมาก

3) จากการประเมินความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยของภาคธุรกิจไทยตามยอดขายที่หดตัวลง EIC คาดว่าสัดส่วน Zombie Firm จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในปี 2020F-2022F หลังวิกฤติ โควิด-19 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด และยังมีแนวโน้มซ้ำเติมธุรกิจขนาดเล็กที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้ว

4) สัดส่วน Zombie Firm ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยหลังวิกฤติ โควิด-19 สวนทางกับช่วงวิกฤติการเงินโลก (2007-2009) ที่สัดส่วน Zombie Firm ลดลง โดย EIC ประเมินว่ามาจากปัจจัยหลักๆ ได้แก่ ระดับความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจที่มากกว่า ขีดความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยที่น้อยกว่า แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่า อัตราการว่างงานของไทยที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่า และภาคธุรกิจขนาดเล็กที่เปราะบางกว่า

5) การช่วยเหลือภาคธุรกิจไทยในระยะสั้น เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้มีความจำเป็นเพื่อควบคุมผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ มาตรการในระยะถัดไปควรมุ่งเน้นการจัดกลุ่มผู้ได้รับความช่วยเหลือ โดยสำหรับบริษัทที่ไม่สามารถแข่งขันได้ควรสร้างกระบวนการออกจากธุรกิจอย่างคล่องตัวและมีผลกระทบจำกัด (orderly exit) ในขณะที่กลุ่มบริษัทที่สามารถแข่งขันได้ ควรได้รับความช่วยเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้บริบทของธุรกิจและเศรษฐกิจหลังการระบาดโควิด-19

ผู้เขียน ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ, พนันดร อรุณีนิรมาน, วชิรวัฒน์ บานชื่อ และ ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา

อ่านข่าวเพิ่มเติม