COVID-19

3 เหตุผล ขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค.ย้ำเพื่อประโยชน์ ด้านสาธารณสุข

ศบค.ระบุ 3 เหตุผล ขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย้ำเพื่อความเป็นเอกภาพ-ความรวดเร็ว ในการทำงาน และเป็นเครื่องมือ ให้ไทยเข้าสู่การผ่อนปรนระยะ 3 และ 4 อย่างปลอดภัย รวมถึงเป็นมาตรการคุมการเดินทางเข้าประเทศ ผ่านอากาศยานด้วย พร้อมเสนอครม.ไฟเขียวต่อ วาง 5 ขั้นตอน พิจารณาผ่อนปรนมาตรการระยะ 3 

S 45359166 700x525 ทวีศิลป์ ตัด e1590129677239

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวว่า สำหรับการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เป็นการนำเสนอโดยพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมีเหตุผลของการขยาย 3 ประการ เพื่อความมั่งคงด้านสาธารณสุขเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ต้องบังคับใช้ เพราะต้องการความมีเอกภาพ รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะต้องมีกฎหมายถึง 40 ฉบับมา ประกอบในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องเชื่อมโยงไปถึงการเดินทางเข้าประเทศ ผ่านด่านอากาศยาน การตรวจคนเข้ามืองด้วย

2. เพื่อเตรียมรองรับระยะต่อไป เพราะไทยอยู่ระหว่างกำหนดมาตรการผ่อนปรน ระยะ 2 ต่อไป 3 และ 4 ซึ่งเปรียบเทียบแล้ว การผ่อนปรนระยะที่ 3 และ 4 จะมีความเสี่ยงด้านสาธารณสุข เรื่องการติดเชื้อ การผ่อนปรนระยะ 1 และ 2 เรายังเห็นตัวเลขการติดเชื้อรายวันเป็นหลักหน่วย แต่เมื่อใดก็ตามปรับผ่อนปรนระยะ 3 และ 4 กิจกรรมเสี่ยงสูงจะมาปรากฎ ซึ่งจะมีเรื่องการสัมผัสใกล้ชิดกันมากขึ้น หากเสี่ยงสูง แล้วการกำกับหย่อนลงไป ก็จะเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นจึงต้องสร้างสมดุล ต้องมีทั้งมาตรการด้านกฎหมาย และการกำกับบริหารจัดการ ตามมาตรการผ่อนคลายในระยะเวลาเหมาะสม

3.สถานการณ์แพร่ระบาดยังไม่สิ้นสุดลง แม้ไทยจะทำครบ 4 ระยะ ก็ต้องมีความพร้อมในการเปิดประเทศ ขณะที่เรามีผู้ติดเชื้อแตะศูนย์อยู่หลายวัน เราซีลประเทศไทย ควบคุมของเราได้ แต่หากไม่มีกฎหมายมาควบคุม เราเปิดประเทศ ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงๆในต่างประเทศจะไหลมาที่ไทย เพราะโรคระบาดไม่มีพรมแดน

” ที่ไทยมียอดติดเชื้อลดลง ในวันนี้ ( 22 พ.ค.) เหลือศูนย์ราย เกิดจากความร่วมมือคนไทย และระบบจัดการภาครัฐที่เอื้อ ทั้ง 2 ส่วนต้องเหมาะสม ดังนั้นวันนี้ศบค.จึงมีการปรึกษากัน และเห็นชอบให้เสนอขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ ต่อครม. จาก 1 มิถุนายน จนถึง 30 มิถุนายน ขอย้ำว่าเราอยากเข้าสู่การผ่อนปรนระยะ 3 หากไม่มีพ.ร.ก.จะเกิดอะไรขึ้น แม้ พ.ร.ก.ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นเครื่องมือให้เรามีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทุกคนเข้าใจดีว่า เราทำเพื่อทุกคน และทุกคนก็ทำเพื่อคนที่เรารัก สุดท้ายก็ทำเพื่อประเทศไทย ทำให้เราประสบความสำเร็จมาถึงตอนนี้ “

สำหรับข้้นตอนการเตรียมมาตรการผ่อนคลายระยะ 3 นั้น ศบค.แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ 1 ระหว่าง วันที่ 23-24 พฤษภาคม เป็นการเตรียมข้อมูล

ขั้นตอนที่ 2 ระหว่าง วันที่ 25-26 พฤษภาคม ประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการ และกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ

ขั้นตอนที่ 3 วันที่ 27 พฤษภาคม ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ

ขั้นตอนที่ 4 วันที่ 29 พฤษภาคม ประชุมศบค.ชุดใหญ่

ขั้นตอนที่ 5 วันที่ 1 มิถุนายน การผ่อนคลายมาตรการมีผลบังคับใช้

Avatar photo