COVID-19

ระวัง!! ผู้ติดเชื้อโอไมครอน JN.1 อาการรุนแรง มีภาวะอ้วนมากกว่า-ภูมิคุ้มกันบกพร่องน้อยกว่าสายพันธุ์ XBB 

ศูนย์จีโนมฯ เผยข้อมูลใหม่ พบกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอน JN.1 ที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู มีภาวะอ้วน และมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องน้อยกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ติดเชื้อโอไมครอน XBB 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  ระบุว่า ระวัง พบกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอน JN.1 ที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) มีภาวะอ้วนมากกว่า (35.7% vs 20.8%) และมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องน้อยกว่า (20.4% vs 41.4%) เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ติดเชื้อโอไมครอน XBB อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มโอไมครอน JN.1 ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน dexamethasone ในสัดส่วนที่สูงกว่าอย่างชัดเจน

ติดเชื้อโอไมครอน JN.1

ข้อมูลเหล่านี้ ช่วยให้เข้าใจคุณลักษณะพื้นฐานของผู้ป่วย รวมถึงความรุนแรงของโรคและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เมื่อแรกรับเข้าไอซียู ซึ่งมีความสำคัญในการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยสองกลุ่ม (โอไมครอน JN.1 และโอไมครอน XBB)

ดังนั้น อาจมีความจำเป็นในอนาคตที่ต้องตรวจหาสายพันธุ์ของโควิด-19 เพราะแต่ละสายพันธุ์มีผลลัพธ์ทางคลินิกที่แตกต่างกันมากขึ้น การป้องกันส่วนบุคคลด้วยการปรับวิถีชีวิตมีความจำเป็นมากขึ้น เช่น การรับประทานอาหารสุขภาพ และออกกำลังกายต่อเนื่องเพื่อไม่ให้มีน้ำหนักเกินซึ่งจะไปเพิ่มความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรุนแรงเมื่อติดเชื้อโอไมครอน JN.1 เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มประชากรลดลงเนื่องจากความกังวลเรื่องผลข้างเคียง

ศูนย์จีโนมฯ รพ. รามาธิบดี เร่งพัฒนาการตรวจแยกสายพันธุ์โอไมครอน XBB, JN.1 (BA.2.86.1) และ BA.2.87.1 ด้วยเทคนิค MassArray genotyping เพื่อตามการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมูลนิธิรามาธิบดี คาดว่าจะแล้วเสร็จในสองสัปดาห์
จากงานวิจัยทางคลินิกแบบไปข้างหน้าในกลุ่มผู้ป่วยจากหลายโรงพยาบาล (prospective multicenter cohort)

ทั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SEVARVIR โดยมีนักวิจัยจากหน่วยไอซียูและห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาในโรงพยาบาลต่างๆ กว่า 50 คน จากกว่า 30 สถาบันการแพทย์ของฝรั่งเศสร่วมดำเนินการ โดยมีทีมนักวิจัยหลักประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤต เช่น นพ. นิโคลัส เดอ พรอสต์ และนักไวรัสวิทยา เช่น ดร. สลิม ฟูราตี

อนึ่ง ผลการศึกษานี้อยู่ในรูปแบบ preprint ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ medRxiv เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 22567 และยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิหรือตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ

ในการศึกษานี้มีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์และถูกรวบรวมไว้ทั้งหมด 233 ราย ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2022 ถึง 22 มกราคม 2024 จาก 40 หน่วยไอซียูที่เข้าร่วมโครงการ SEVARVIR แบ่งเป็น

  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ XBB จำนวน 126 ราย
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ JN.1 (รวม BA.2.86, JN.1 และ JN.3) จำนวน 56 ราย
  • ผู้ป่วยอีก 51 รายถูกคัดกรองออกไปไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ในการเปรียบเทียบครั้งนี้

ดังนั้นจำนวนผู้ป่วยที่นำมาวิเคราะห์ผลในการศึกษานี้มีทั้งหมด 182 ราย

ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา

ลักษณะปรากฏของผู้ป่วย (Clinical phenotypes) พบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 มีภาวะอ้วนมากกว่า (35.7% เทียบกับ 20.8%) แต่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องน้อยกว่า (20.4% เทียบกับ 41.4%) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน XBB

โควิด1

สรุปเปรียบเทียบลักษณะผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 และ XBB 

ความรุนแรงของโรค

  • ผู้ป่วยกลุ่มโอไมครอน XBB ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบ invasive มากกว่ากลุ่มโอมิครอน JN.1 เล็กน้อย (34.1% vs 29.1%) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
  • อัตราการเสียชีวิตที่ 28 วันของกลุ่มโอไมครอน XBB สูงกว่ากลุ่มโอไมครอน JN.1 (22% vs 14.6%) แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน

แสดงว่าความรุนแรงของโรคโดยรวมไม่ต่างกันมากนักระหว่างโอไมครอน 2 สายพันธุ์ย่อย

การรักษา

  • ผู้ป่วยกลุ่มโอไมครอน JN.1 ได้รับยา dexamethasone ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มโอไมครอน XBB อย่างมีนัยสำคัญ (87.5% vs 59.5%) ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับจำนวนผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องน้อยกว่า Dexamethasone เป็นยาสเตียรอยด์ที่ใช้กดการอักเสบและภูมิคุ้มกัน จึงมักหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเพราะอาจทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงมากขึ้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส
  • ทั้ง 2 กลุ่มได้รับยา tocilizumab ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน (14.5% vs 11.1%)

อนึ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ยา tocilizumab ถูกนำมาใช้เสริมในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือวิกฤต เนื่องจากพบว่าการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 กระตุ้นให้เกิด cytokine storm หรือการหลั่ง cytokine อย่าง IL-6 มากเกินไป ทำให้เกิดการอักเสบและทำลายอวัยวะอย่างรุนแรง การให้ tocilizumab จึงเป็นการควบคุมปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เกินพอดีนี้

  • มีผู้ป่วยกลุ่มโอไมครอน XBB เพียง 1 รายที่ได้ยาแอนติบอดีสังเคราะห์ ส่วนกลุ่มโอไมครอน JN.1 ไม่มีเลย แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

แสดงว่ารูปแบบการรักษาทั้ง 2 กลุ่มค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ยกเว้นการให้ dexamethasone ที่มากกว่าในกลุ่ม JN.1 อย่างเห็นได้ชัด

ที่น่าสนใจคือ พบความแตกต่างด้านปัจจัยเสี่ยงบางประการเช่น ภาวะอ้วน และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง การศึกษานี้ช่วยให้เข้าใจลักษณะเฉพาะทางคลินิกของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ JN.1 ที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้า ICU มากขึ้น

ไวรัส

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอไมครอน JN.1 มีภาวะอ้วนมากกว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ XBB อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (35.7% เทียบกับ 20.8%, p=0.033)

นอกจากนี้ ค่ามัธยฐานของดัชนีมวลกายในกลุ่มผู้ป่วย JN.1 ก็สูงกว่ากลุ่ม XBB เช่นกัน (26.4 กก./ม2 เทียบกับ 25.0 กก./ม2, p=0.019)

ผลการศึกษานี้ทำให้ผู้วิจัยแปลกใจ เพราะภาวะอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคโควิด-19 มีอาการรุนแรงได้ ซึ่งพบตั้งแต่โควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอน JN.1 กลับพบภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องน้อยกว่า ทั้งที่ปกติภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน

นักวิจัยสันนิษฐานว่า ผลการศึกษาเหล่านี้ อาจบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ JN.1 อาจมีความรุนแรงน้อยกว่าในแง่การก่อโรค (less pathogenic) เมื่อเทียบกับสายพันธุ์โอไมครอนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การที่มีภาวะอ้วนมากขึ้นก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรงได้เช่นกัน

เหตุผลบางประการที่โรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ที่รุนแรง

  • โรคอ้วนสามารถทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
  • เนื้อเยื่อไขมันสามารถเก็บเชื้อไวรัสไว้ได้นานขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วนอาจมีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น เบาหวานหรือโรคหัวใจ ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ที่รุนแรงได้

จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างโรคอ้วนและการติดเชื้อโอมิครอน JN.1 และเพื่อทำความเข้าใจกลไกที่อยู่เบื้องหลัง

หมายเหตุ

จากตารางในการศึกษานี้ (ดูภาพประกอบ) มีการรวบรวมลักษณะทางคลินิกและชีวภาพของผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 182 ราย โดยมีตัวแปรข้อมูลทั้งหมด 36 รายการ ได้แก่

1. เพศ

2. อายุ

3. เบาหวาน

4. โรคอ้วน

5. ดัชนีมวลกาย

6. ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง

7. ความดันโลหิตสูง

8. ภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเรื้อรัง

9. ภาวะไตวายเรื้อรัง

10. ตับแข็ง

11. ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

12. สาเหตุของภูมิคุ้มกันบกพร่อง

13. จำนวนโรคร่วม

14. Clinical frailty scale

15. การติดเชื้อ SARS-CoV-2 ก่อนหน้า

16. การได้รับวัคซีน SARS-CoV-2

17. จำนวนโดสวัคซีนที่ได้รับ

18. ระยะเวลาตั้งแต่ฉีดวัคซีนครั้งล่าสุดถึงเข้า ICU

19. ผล SARS-CoV-2 serology เมื่อเข้า ICU

20. ระยะเวลาตั้งแต่มีอาการถึงเข้า ICU

21. ค่า Ct ของ SARS-CoV-2 RNA ในนาโซฟารินเจียลสวอบ

22. WHO 10-point scale เมื่อเข้า ICU

23. SAPS II score เมื่อเข้า ICU

24. SOFA score เมื่อเข้า ICU

25. PaO2/FiO2 ratio

26. ตรงตามเกณฑ์ ARDS หรือไม่

27. ระดับ lactate ในหลอดเลือดแดง

28. ระดับเม็ดเลือดขาว

29. ระดับ lymphocyte ในเลือด

30. ระดับเกล็ดเลือด

31. ระดับยูเรียในเลือด

32. ระดับครีอะตินีนในเลือด

33. มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมหรือไม่

34. มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดหรือไม่จาก CT

35. % parenchymal involvement ในปอดจาก CT

36. ชนิดของการช่วยหายใจ/ให้ออกซิเจนที่ได้รับเมื่อเข้า ICU

ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เข้าใจคุณลักษณะพื้นฐานของผู้ป่วย รวมถึงความรุนแรงของโรคและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เมื่อแรกรับเข้าไอซียู ซึ่งมีความสำคัญในการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยสองกลุ่ม (JN.1 และ XBB) และอาจมีผลต่อการรักษาและผลลัพธ์ทางคลินิกที่เกิดขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo