COVID-19

ข่าวดี!!เทคโนโลยีปัจจุบัน ก้าวนำการระบาดของโควิด-19 ป้องกันได้ใน 3 เดือน

ศูนย์จีโนมฯ บอกข่าวดี เทคโนโลยีปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ก้าวทัน แต่สามารถก้าวนำการระบาดของโควิด-19 เห็นได้จากกรณีศึกษาโอไมครอน BA.2.87.1 หลังค้นพบนำไปสู่การป้องกันภายใน 3 เดือน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  เรื่อง เทคโนโลยี ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ก้าวทัน แต่สามารถก้าวนำการระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า

ศูนย์จีโนม

กรณีศึกษาโอไมครอน BA.2.87.1 จากการค้นพบสู่การป้องกันภายใน 3 เดือน

ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนม เพื่อสร้างไวรัสเสมือน ทดสอบกับภูมิคุ้มกันของเราที่ได้รับจากวัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นล่าสุด โมโนวาเลนต์ XBB.1.5 หรือการติดเชื้อตามธรรมชาติจากสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบัน

ในปี 2566 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบโอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ BA.2.87.1 และจากนั้นเพียง 3 เดือน พวกเขาก็สามารถสร้างอนุภาคไวรัสเทียม (pseudovirus) ที่มีส่วนหนามเหมือนกับโอไมครอน BA.2.87.1 แต่ปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดโรคขึ้นมา เพื่อศึกษาระบบภูมิคุ้มกันของเราว่า สามารถต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อุบัติใหม่นี้ได้หรือไม่

โอไมครอน BA.2.87.1 เป็นโอไมครอนรุ่นใหม่ที่ดึงดูดความสนใจของนักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากค่อนข้างแตกต่างจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือที่ระบาดมาก่อนหน้า โดยมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า 100 ตำแหน่งบนสายจีโนม และมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า 30 ตำแหน่งที่เกิดขึ้นในส่วนโปรตีนหนาม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะอาจส่งผลให้แอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนโควิดรุ่นล่าสุด โมโนวาเลนต์ XBB.1.5 อาจไม่สามารถเข้าจับกับโอไมครอน BA.2.87.1 บริเวณส่วนหนามเพื่อทำลายอนุภาคไวรัส

ทั้งนี้ เนื่องจากส่วนหนามของโอไมครอน BA.2.87.1 ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อันอาจทำให้ภูมิคุ้มกันในส่วนของแอนติบอดีจำโอไมครอน BA.2.87.1 ไม่ได้ ทำให้การเข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัส BA.2.87.1 เกิดขึ้นไม่ดีเท่ากับการเข้าจับและทำลายโควิด-19 สายพันธุ์ที่ระบาดมาก่อนหน้า เช่น ไวรัสอู่ฮั่น (โควิด-19 ดั้งเดิม) โอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.2, โอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.5

ในการสร้างอนุภาคไวรัสเทียม เช่น ไวรัสอู่ฮั่น (โควิด-19 ดั้งเดิม) โอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.2, โอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.5, โอไมครอนสายพันธุ์ในปัจจุบัน JN.1, และโอไมครอนที่อาจมีการระบาดในอนาคต BA.2.87.1 นั้น นักวิทยาศาสตร์จะอาศัยข้อมูลรหัสพันธุกรรมบริเวณที่สร้างโปรตีนหนามจากตัวอย่างที่ถอดรหัสพันธุกรรมและแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก (GISAID) เท่านั้น มิได้มีการเพาะเพิ่มจำนวนบรรดาไวรัสโคโรนา 2019 ในหลอดทดลองเพื่อมาใช้เป็นสารตั้งต้นแต่อย่างใด

การเปลี่ยนแปลงส่วนหนาม

ไวรัสเทียมที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม จะมีส่วนหนามเหมือนกับโควิดแต่ละสายพันธุ์ตามรหัสพันธุกรรมที่กำหนด ไวรัสเทียมสามารถจับกับแอนติบอดีหรือผิวเซลล์มนุษย์ได้ แต่ไม่อาจเพิ่มจำนวนภายในเซลล์ จึงปลอดภัยไม่เกิดแพร่ระบาดก่อโรคเหมือนไวรัสจริง

ที่สำคัญ จะช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาได้อย่างใกล้ชิดว่าแอนติบอดีที่ผลิตจากวัคซีนโควิดรุ่นล่าสุด โมโนวาเลนต์ XBB.1.5 หรือจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ สามารถเข้าจับและทำลายไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆโดยไม่ต้องใช้ไวรัสจริงที่ต้องทดสอบในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ที่มีความสุ่มเสี่ยงจะหลุดออกมาแพร่ระบาดในหมู่ประชาชน

การศึกษาจากไวรัสเทียมให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโควิด-19 สายพันธุ์ตั้งต้นที่เรียกว่า ไวรัสอู่ฮั่น, โอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.2, โอไมครอน XBB.1.5 ที่ใช้เป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีนล่าสุดที่ประเทศไทยมีการนำเข้า

โอไมครอนที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก JN.1 ไปทั่วโลก และ โอไมครอน ที่อาจระบาดในอนาคต BA.2.87.1 พบว่า ผู้ที่ยังไม่รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโมโนวาเลนต์ XBB.1.5 จะมีภูมิคุ้มกันประเภทแอนติบอดีที่สูงต่อ ไวรัสอู่ฮั่น และโอไมครอน BA.2

แต่ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันกลับลดลงในกรณีของโอไมครอน XBB.1.5, JN.1 และ BA.2.87.1 โดยพบว่าโอไมครอน BA.2.87.1 หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า ไวรัสอู่ฮั่น, โอไมครอน BA.2, แต่การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันยังสู้โอไมครอน XBB.1.5 และ JN.1 ไม่ได้ ดังนั้นพื้นที่ที่มีโอไมครอน BA.2.87.1 เพิ่มจำนวนได้จะเป็นบริเวณที่ไม่มีโอไมครอน JN.1 แพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก

อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโมโนวาเลนต์ XBB.1.5 มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อกับสายพันธุ์ทั้งหมดที่ใช้ทดสอบ กล่าวคือ

  • พบภูมิคุ้มกันแอนติบอดีเพิ่มขึ้นไม่มากใน ไวรัสอู่ฮั่น และ โอไมครอน BA.2 คือประมาณ 2 และ 3.7 เท่าตามลำดับ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโมโนวาเลนต์ XBB.1.5
  • พบภูมิคุ้มกันแอนติบอดีเพิ่มสูงขึ้นต่อโอไมครอน XBB.1.5, JN.1 และ BA.2.87.1 อย่างมีนัยสำคัญคือ 5.3, 13.4,และ 4.5 เท่าตามลำดับ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโมโนวาเลนต์ XBB.1.5

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ในการเพิ่มการป้องกันต่อสายพันธุ์ใหม่ เช่น BA.2.87.1 และ JN.1 และเสนอแนะว่า การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชากรยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการป้องกันการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในอนาคต

วัคซีน

โดยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้าไปมากเทียบกับเมื่อ 4 ปีก่อนที่โคโรนา 2019 เพิ่งเริ่มระบาด ทำให้การศึกษาโอไมครอน BA.2.87.1 เป็นไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่การค้นพบไปจนถึงการสร้างไวรัสเทียมและการประเมินการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อตามธรรมชาติแล้วเสร็จภายในสามเดือนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังด้านจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 (Genomic Surveillance for SARS-CoV-2 Variants) ด้วยการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของไวรัสอย่างใกล้ชิด

นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุการอุบัติขึ้นของโอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ ๆ เช่น BA.2.87.1 และ JN.1 ได้อย่างรวดเร็ว ประเมินศักยภาพของสายพันธุ์อุบัติใหม่เหล่านี้ในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน และประเมินว่าวัคซีนที่มีอยู่ยังคงให้การป้องกันได้หรือไม่

การเฝ้าระวังนี้ช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปรับใช้วัคซีนได้อย่างรวดเร็วและการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ ๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าเราจะยังคงก้าวนำหน้าในการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเชิงลึกจากการถอดรหัสพันธุกรรมของโอไมครอน BA.2.87.1 และ JN.1 เผยให้เห็นว่า แม้ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีภูมิคุ้มกันต่อโอไมครอน BA.2.87.1 และ JN.1 ในระดับต่ำโดยโอไมครอน JN.1 ยังต่ำกว่า BA.2.87.1 แต่เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโมโนวาเลนต์ XBB.1.5

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์โดยตรงของการเฝ้าระวังจีโนม ต่อการรณรงค์การฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรเปราะบาง และปรับแนวทางกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์อุบัติขึ้นอยู่ตลอดเวลา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx

Avatar photo