COVID-19

CDC สหรัฐ เตือนโอไมครอนรุ่นลูกสายพันธุ์ใหม่ เริ่มระบาดแทนที่ JN.1

CDC สหรัฐ แจ้งเตือน โอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 ที่มีศักยภาพสูง ทั้งการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและการเข้าจับกับผิวเซลล์ เริ่มระบาดเข้ามาแทนที่ JN.1 ที่กำลังลดจำนวนลง

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (CDC สหรัฐ) แถลงว่า ในช่วงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567-2 มีนาคม 2567 ประเมินว่า โอไมครอน JN.1 ในสหรัฐ ได้ลดจำนวนลงคิดเป็น 92.3% ที่ระบาดหมุนเวียนในประเทศ ในขณะที่รุ่นลูก JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 3.3%, 1.8% และน้อยกว่า 1% ตามลำดับ

CDC สหรัฐ

  • โอไมครอน JN.1 มีการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั่วโลกได้ 60,602 ราย
  • โอไมครอน JN.1.13 สุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั่วโลกได้ 226 ราย ส่วนใหญ่พบในสหรัฐ (218 ราย)
  • โอไมครอน JN.1.18 สุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั่วโลกได้ 811 ราย ส่วนใหญ่พบในสหรัฐ และอังกฤษ (323 และ 129 รายตามลำดับ)
  • โอไมครอน JN.1.23 สุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั่วโลกได้ 13 ราย พบครั้งแรกในกลุ่มตัวอย่างที่เก็บเมื่อต้นเดือนมกราคมจากบาเอีย ประเทศบราซิล ตั้งแต่นั้นมาพบในอเมริกาเหนือและออสเตรเลีย

โอไมครอน JN.1.13 และ JN.1.18 มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน (คำนวณจากรหัสพันธุกรรม) ใกล้เคียงกันแต่สูงกว่า JN.1

โอไมครอน JN.1.23 เป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง เพราะมีความสามารถในการ หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน และการเข้าจับกับผิวเซลล์ในส่วนของ ACE-2 สูงที่สุดในปัจจุบัน ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และอาจมีการแพร่ระบาดสูงกว่าสายพันธุ์อื่นในอนาคตอันใกล้

โอไมครอน JN.1.23 เป็นสายพันธุ์ใหม่ของ SARS-CoV-2 กำลังดึงดูดความสนใจของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ตรวจพบครั้งแรกในกลุ่มตัวอย่างที่เก็บเมื่อต้นเดือนมกราคมจากบาเอีย ประเทศบราซิล ตั้งแต่นั้นมาก็ปรากฏตัวในอเมริกาเหนือและออสเตรเลียถึง 3 ทวีปอย่างรวดเร็ว

การติดตามการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ จะช่วยในการทำความเข้าใจความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน และในการปรับกลยุทธ์สำหรับการฉีดวัคซีนและการรักษา

1

ตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่แตกต่างกันของ JN.1, JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 

  • โอไมครอน JN.1.13 มีกรดอะมิโนส่วนหนามต่างจาก JN.1 ไป 2 ตำแหน่งคือ F59S และ A1087S
  • โอไมครอน JN.1.18 มีกรดอะมิโนส่วนหนามต่างจาก JN.1และ JN.1.23 จำนวน 1 ตำแหน่งคือ R346T
  • โอไมครอน JN.1.23 มีกรดอะมิโนส่วนหนามต่างจาก JN.1, JN.1.13, JN.1.18 จำนวน 2 ตำแหน่ง คือ K444R และ Y453F

CDC สหรัฐ พิจารณาคะแนนความสามารถในการหลบเลี่ยงของภูมิคุ้มกันของโอไมครอน JN.1, JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 มีสเกลตั้งแต่ 0-1.6 โดยคำนวณจากรหัสพันุกรรมด้วยโปรแกรมที่พัฒนาโดย ดร.ราช ราชนารายณ์และทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวยอร์ก สหรัฐ

โอไมครอนรุ่นลูก JN.1.13 และ JN.1.18 คำนวณจากรหัสพันธุกรรม พบมีคะแนนความสามารถในการหลบเลี่ยงของภูมิคุ้มกันค่าสูงกว่า 1.5 ซึ่งสูงกว่าโอไมครอนรุ่นพ่อแม่ JN.1 ซึ่งมีค่าประมาณ 1.3 ทำให้สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีนโมโนวาเลนต์ ซึ่งใช้โอไมครอน XBB.1.5 เป็นต้นแบบหรือสารตั้งต้น  อันจะส่งผลต่อวัคซีนได้ดังนี้

1. ทำให้แอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนโมโนวาเลนต์ XBB มีความสามารถในการเข้าจับและทำลายโอมิครอนรุ่นลูก JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 ลดลง ทำให้วัคซีนมีประสิทธิผลน้อยลงในการป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้

2. มีศักยภาพในการติดเชื้อแบบลุกลาม บุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนโมโนวาเลนต์ XBB แล้วยังอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำหลังการฉีดวัคซีนจากสายพันธุ์ JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 (breakthrough infection)

3. การปรับแก้วัคซีน การอุบัติขึ้นของสายพันธุ์ย่อยดังกล่าว อาจจำเป็นต้องปรับปรุงสูตรวัคซีน เพื่อรวมเอพิโทปของโปรตีนหนามของ JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 เข้าไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต่อสู้กับสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ ที่กำลังจะแพร่เป็นสายพันธุ์หลักในอนาคตได้

4. ผลกระทบต่อความครอบคลุมของวัคซีน นโยบายด้านสาธารณสุขอาจจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีนและขนาดยาต้านไวรัส เพราะโอไมครอน เช่น JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 แสดงให้เห็นสัญญาณเตือนภัยจากไวรัสโควิด-19 ที่สามารถกลายพันธุ์หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโมโนวาเลนต์ XBB ได้

5. การตอบสนองของทีเซลล์ สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือวัคซีนยังกระตุ้นการตอบสนองของทีเซลล์ (เม็ดโลหิตขาวประเภทหนึ่ง) ที่เข้าทำลายเซลล์ติดเชื้อโควิด-19 ช่วยป้องกันมิให้เกิดโรคโควิด-19 ร้ายแรงได้ แม้ว่าแอนติบอดี (ผลิตจากบีเซลล์) จะมีประสิทธิผลน้อยลง ในการจับและทำลายอนุภาคไวรัสในกระแสเลือดก็ตาม

โดยรวมแล้ว คะแนนการหลบหนีของภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น หมายความว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ผลิตวัคซีนจำเป็นต้องติดตามสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการในทุกมิติ เพื่อรักษาประสิทธิภาพของวัคซีน

2

CDC สหรัฐ ชี้โอไมครอน JN.1 รุ่นลูกมีความสามารถแพร่ระบาดเร็วขึ้น

คะแนนของส่วนหนามของโอไมครอนในการจับผิวเซลล์เจ้าบ้านบริเวณ ACE2 คำนวณจากรหัสพันธุกรรมพบว่าโอไมครอนรุ่นลูก JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 สูงกว่าโอไมครอนรุ่นพ่อแม่ JN.1 โดยเฉพาะรุ่นลูกโอไมครอน JN.1.23 มีค่าสูงกว่า 2.0 ในขณะที่โอไมครอน JN.1 มีค่าเพียงประมาณ 1.0 อันอาจส่งผลกระทบหลายประการ

1. ความสามารถในการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น หาก JN.1.23 สามารถยึดจับกับเซลล์เจ้าบ้านได้ง่ายขึ้น มันอาจสามารถแพร่กระจายระหว่างเซลล์สู่เซลล์ของผู้ติดเชื้อ โดยไม่ต้องออกจากเซลล์มาสู่กระแสเลือดที่มีแอนติบอดี (ที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน) รอคอยจับและทำลาย ซึ่งนำไปสู่อัตราการแพร่ระบาดที่สูงขึ้น

2. ประสิทธิภาพการติดเชื้อ การจับกับผิวเซลล์บริเวณ ACE2 ที่ดีขึ้น ทำให้ความต้องการจำนวนอนุภาคไวรัสที่ก่อการติดเชื้อในกระแสเลือดลดลง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณโอไมครอน JN.1.23 ในการทำให้เกิดการติดเชื้อลดลงเมื่อเทียบกับโอไมครอนรุ่นพ่อแม่ JN.1

3. ปริมาณไวรัส (viral load): ผู้ติดเชื้อโอไมครอน JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 หากพบมีปริมาณไวรัสในร่างกายสูง อาจส่งผลต่ออาการทางคลินิกที่รุนแรงขึ้น

4. การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น: ความสามารถของสายพันธุ์ที่สามารถจับกับผิวเซลล์ที่ดีกว่า จะสามารถระบาดมาแทนที่สายพันธุ์ที่มีการจับกับผิวเซลล์ได้ด้อยกว่า ซึ่งนำไปสู่การแพร่ระบาดกลายเป็นสายพันธุ์หลักในหมู่ประชากร

5. ความท้าทายด้านวัคซีน และภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แม้ว่าวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติ จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง แต่ความสามารถของไวรัสที่เข้าจับกับผิวเซลล์ที่เพิ่มขึ้น อาจท้าทายความสามารถของระบบภูมิคุ้มกัน ในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อซ้ำในผู้ที่ฉีดวัคซีน และผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนและไม่เคยฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

3

อย่างไรก็ตาม การจับกับ ACE2 ที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว ไม่อาจกำหนดความเสี่ยงโดยรวมที่เกิดจากโควิดสายพันธุ์นั้น ๆ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การหลบหนีของภูมิคุ้มกัน อัตราการเพิ่มจำนวนไวรัสในร่างกาย (viral replication) และความรุนแรงของแต่ละสายพันธุ์ ก็มีบทบาทสำคัญส่งผลกระทบต่อการระบาดของแต่ละสายพันธุ์ด้วยเช่นกัน

การผนวกเอาความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่สูง (immune escape) อันส่งผลให้แอนติบอดีผลิตจากเม็ดเลือดขาวบีเซลล์ (B-cell) ด้อยประสิทธิภาพในการจับและทำลายอนุภาคไวรัสในกระแสเลือด และการเข้าจับผิวเซลล์มนุษย์บริเวณ ACE2 (ACE2 binding ) ที่สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาวทีเซลล์ (T-cell) เข้าทำลายเซลล์ติดเชื้อลดลง มาเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพัฒนาวัคซีนเข็มกระตุ้นและวัคซีนแพลตฟอร์มใหม่ๆต่อสู้กับโอมิครอนสายพันธุ์ล่าสุด เช่น JN.1.23 ในหลายวิธี ดังนี้

1. การออกแบบวัคซีนแบบกำหนดเป้าหมาย นักพัฒนาวัคซีนอาจจำเป็นต้องรวมการกลายพันธุ์ของโปรตีนส่วนหนาม เช่นจากโอไมครอน JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 ไว้ในสูตรวัคซีนใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน มุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น วัคซีนเข็มกระตุ้นอาจได้รับการออกแบบ เพื่อกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในวงกว้าง หรือแข็งแกร่งยิ่งขึ้น (broader or more robust immune response) ซึ่งสามารถเอาชนะความสามารถของโอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ ในการหลบเลี่ยงการตรวจจับของภูมิคุ้มกัน

3. การเน้นการป้องกันไวรัสข้ามตระกูลหรือสายพันธุ์ย่อย การวิจัยอาจมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการตอบสนองของทีเซลล์ (เม็ดเลือดขาวประเภทหนึ่ง) ที่สามารถให้การป้องกันโควิด-19 ข้ามสายพันธุ์หรือกับหลายสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากแอนติบอดีได้ดี

4. การปรับปริมาณและกำหนดระยะเวลาของการฉีดวัคซีน อาจปรับขนาดการให้วัคซีนและกำหนดเวลาสำหรับการฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่

5. วัคซีนครอบจักรวาล (Universal Vaccines) อาจมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในการพัฒนาวัคซีน ‘ครอบคลุมทุกสายพันธุ์’ ที่กำหนดเป้าหมายไปที่ส่วนหนามของไวรัสในบริเวณที่ที่มีการกลายพันธุ์น้อย หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลง (conserved region)

6. กระบวนการกำกับดูแลวัคซีน หน่วยงานกำกับดูแลวัคซีนระดับชาติ อาจจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการในการอัปเดตและอนุมัติวัคซีนดัดแปลง เพื่อตอบสนองต่อโอไมครอนที่อุบัติใหม่ เช่น โอไมครอน JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 ที่มีการกลายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว

โดยสรุป โอไมครอนกลายพันธุ์อย่างโอไมครอน JN.1.13, JN.1.18, และ JN.1.23 จะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหาแนวทางการพัฒนาวัคซีนที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นไปที่การอัปเดตวัคซีนที่มีอยู่ทันที และกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากไวรัสอย่างโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx

Avatar photo