COVID-19

นักวิจัยโอไฮโอ พบโควิดแพร่จากกวางสู่กวาง กลายพันธุ์เร็วกว่าพบในมนุษย์ 3 เท่า

ศูนย์จีโนมฯ เผยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ พบโควิดแพร่ในกวาง กลายพันธุ์เร็วกว่าในมนุษย์ 3 เท่า หวั่นพบสายพันธุ์ใหม่แพร่จากกวางสู่คน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า พบโควิดติดต่อระหว่างกวางสู่กวางคง แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วหลายร้อยกิโลเมตร และกลายพันธุ์เร็วกว่าในมนุษย์ถึง 3 เท่า โดยระบุว่า

กลายพันธุ์เร็ว

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอพบว่า ตัวอย่างสวอปจากกวางหางขาวมากกว่า 10% จาก 1,522 ตัวอย่างในรัฐโอไฮโอ ตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 พบการติดต่อระหว่างกวางสู่กวางคงในช่วง 8 เดือน มีการแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วหลายร้อยกิโลเมตร

จากการถอดรหัสพันุกรรมทั้งจีโนมพบว่า เป็นสายพันธุ์ อัลฟา และ เดลตา ที่มีการพัฒนาเร็วกว่าในมนุษย์ถึง สามเท่า ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจพบสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น XBB ในกวางด้วยเช่นกันในอนาคต

การแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 จากมนุษย์ไปยังกวางหางขาว คาดว่าอาจเกิดจากการที่กวางกินอาหารจากมนุษย์ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดจากกวางมาสู่มนุษย์ อย่างไรก็ตามมีหลักฐานทางห้องปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้นว่ามนุษย์สามารถรับไวรัสจากกวางได้

แพร่เร็ว

SARS-CoV-2 ในกวางหางขาวพบว่า มีการกลายพันธุ์ได้เร็วกว่าในมนุษย์ถึง 3 เท่า โดยวิเคราะห์จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับจีโนมของ SARS-CoV-2 ใน 5 บริเวณด้วยกันคือ ORF1a, ORF1b, ORF3 – ORF8, E: envelop, M: membrane, S:Spike และ N: nucleocapsid

ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่อาจจะแพร่กระจายจากกวางสู่คน

สาเหตุหลักที่ต้องกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในกวาง ได้แก่

  • ความเป็นไปได้โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อาจอุบัติขึ้นในกวาง เพราะไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน
  • ความเป็นไปได้ที่จะแพร่กระจายจากกวางกลับมาสู่มนุษย์
  • ความเสี่ยงที่ไวรัสจะแพร่กระจายจากกวางไปยังสัตว์ป่าและปศุสัตว์อื่นๆ

โควิด 2

ข้อมูลเกี่ยวเนื่อง

ข่าวการค้นพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์อย่างรวดเร็วในหมู่กวาง ในแถบซีกโลกเหนือ มาพร้อมกับการที่นักวิจัยทั่วโลก กำลังเฝ้าติดตามไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในมนุษย์

BA.2.86 ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามสูงมาก ซึ่งพบในสหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ อิสราเอล เดนมาร์ก และสหราชอาณาจักร

BA.2.86 สืบเชื้อสายมาจากโอไมครอน BA.2 โดยมีการกลายพันธุ์บริเวณหนามไปถึง 35 ตำแหน่งแตกต่างไปจากโอไมครอน XBB.1.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ (2566)

การกลายพันธุ์บริเวณหนามถึง 35 ตำแหน่ง เป็นจำนวนการกลายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับการกลายพันธุ์ของโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1, BA.2) ที่ต่างไปจากสายพันธุ์อื่น ๆ เช่นเดลตา และก่อให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหญ่ในช่วงปลายปี 2564

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยอมรับว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องติดตาม BA.2.86

แต่สายพันธุ์ใหม่นี้ไม่น่าจะก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่เหมือนกับสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1, BA.2) ในปี 2564 เนื่องจากปัจจุบัน (2566)ประชากรส่วนใหญ่ของโลกมีภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากวัคซีนและจากการติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติก่อนหน้านี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo