COVID-19

‘หมอธีระ’ กางผลวิจัยญี่ปุ่นหยุดงานเมื่อป่วยลดการแพร่ระบาดโควิดได้ถึง 44%

“หมอธีระ” กางผลวิจัยญี่ปุ่นหยุดงานเมื่อป่วยลดการแพร่ระบาดโควิดได้ถึง 44% เตือน!! สถานการณ์โควิดในประเทศยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิดล่าสุด ระบุว่า 11 พฤษภาคม 2566 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 45,454 คน ตายเพิ่ม 148 คน รวมแล้วติดไป 688,034,049 คน เสียชีวิตรวม 6,872,477 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เวียดนาม รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

หมอธีระ

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 90.31% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 75%

…นโยบายให้หยุดงานเมื่อป่วยจะลดการระบาดในที่ทำงานได้มาก

Kurogi K และคณะจาก University of Occupational and Environmental Health เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ในวารสารวิทยาศาสตร์ Heliyon เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2020-2021 ในพนักงานที่ทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ จำนวน 11,982 คน
พบว่า สถานที่ทำงานที่มีนโยบายให้พนักงานที่มีอาการป่วยงดมาปฏิบัติงาน จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแพร่เชื้อโรคโควิดในที่ทำงานได้ถึง 44% (RR: 0.56, 95% CI: 0.34-0.91)

หมอธีระ

…ผลการศึกษาข้างต้น ตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญของนโยบายของสถานที่ทำงาน ที่จะช่วยดูแลเอาใจใส่สวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง โดยให้หยุดงานหากมีอาการป่วย รวมถึงการทำงานที่บ้านผ่านออนไลน์ ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวลูกจ้างเอง เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว และลดความเสี่ยงของกิจการเองด้วย จะได้ไม่เกิดการป่วยพร้อมกันจำนวนมากจากการระบาดเป็นกลุ่มก้อน

…Long COVID สัมพันธ์กับการคงค้างของไวรัสในร่างกายระยะยาว

Yang C และคณะจากประเทศแคนาดา ได้ทบทวนหลักฐานและองค์ความรู้วิชาการแพทย์จนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับภาวะ Long COVID เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระบบทางเดินหายใจ The Lancet Respiratory Medicine วันที่ 10 พฤษภาคม 2566

ชี้ให้เห็นว่ามีงานวิจัยจากทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ที่มีการตรวจพบการคงค้างของไวรัสและ/หรือชิ้นส่วนของไวรัสในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด และมีอาการผิดปกติคงค้างระยะยาวตามมา ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพบในเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เนื้อเยื่อจากสมอง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ฯลฯ

หมอธีระ

ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานทางการแพทย์ที่มีการศึกษาแล้วพบว่า อาการผิดปกติในผู้ป่วย Long COVID นั้นเกิดจากการอักเสบเรื้อรัง, การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ, รวมถึงระบบควบคุมการแข็งตัวของเลือดผิดปกติโดยเกิดลิ่มเลือดขนาดเล็กอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็ก ซึ่งกลไกเหล่านี้น่าจะสัมพันธ์กับการคงค้างของไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสในร่างกาย

โควิดป่วยรุนแรงได้ ตายได้

…การติดเชื้อแต่ละครั้งจึงไม่ได้จบแค่ชิล ๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาว Long COVID ได้ด้วย ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

……สถานการณ์ไทยเรา มีคนติดเชื้อกันมาก ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง
1. Kurogi K et al. Evaluation of workplace infection prevention and control measures for COVID-19: A prospective cohort study in Japan. Heliyon. 3 May 2023.
2. Yang C et al. Association of SARS-CoV-2 infection and persistence with long COVID. The Lancet Respiratory Medicine. 10 May 2023.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK