Politics

‘หมอธีระ’ กางผลวิจัยฝรั่งเศส ‘โควิด’ ติดเชื้อซ้ำได้ไว หากไม่ป้องกันตัว

“หมอธีระ” กางผลวิจัยฝรั่งเศส “โควิด” ติดเชื้อซ้ำได้ไว หากไม่ป้องกันตัว ย้ำ!! การติดเชื้อแต่ละครั้ง เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต และเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์โควิดล่าสุด โดยระบุว่า 5 พฤษภาคม 2566 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 46,870 คน ตายเพิ่ม 133 คน รวมแล้วติดไป 687,512,603 คน เสียชีวิตรวม 6,869,108 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

หมอธีระ

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 93.88% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 86.46%

…การติดเชื้อซ้ำ เกิดขึ้นได้ไว หากไม่ป้องกันตัว

ความเชื่องมงายเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อครั้งแรก แล้วจะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำได้อีกนานหลายเดือนนั้น ไม่ใช่ความจริง งานวิจัยหลากหลายชิ้นจากประเทศต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่า หากไม่ป้องกันตัว ต่อให้เคยติดเชื้อมาก่อน ก็จะติดเชื้อซ้ำได้ในเวลาไม่นาน

ทีมงานจากฝรั่งเศสได้รายงานการศึกษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ซ้ำ จำนวน 188 ราย ในช่วง Omicron B1-B5 ระบาดในปีที่ผ่านมา เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Emerging Infectious Diseases ฉบับพฤศจิกายน 2022

ชี้ให้เห็นว่า มีกว่าหนึ่งในสี่ (26.6%) ที่ติดเชื้อซ้ำภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยที่มี 15% ที่ติดเชื้อซ้ำภายในเวลาน้อยกว่า 60 วัน

หมอธีระ

สอดคล้องกับงานวิจัยจากเดนมาร์ก ที่รายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในยุค Omicron เช่นกัน (BA.2) จำนวน 47 คน ที่พิสูจน์ว่าได้ติดเชื้อซ้ำ ภายในระยะเวลา 20-60 วัน หลังจากติดเชื้อครั้งแรก (BA.1) ทุกวันนี้ยังคงเห็นข่าวลวง ลอยละล่อง เผยแพร่ผ่านทางสื่อสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราจึงควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะข่าวลวงดังกล่าวจะบิดเบือนและลดทอนความตระหนักและความรับรู้ต่อความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวัน

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการแพร่เชื้อติดเชื้อจำนวนมาก

…ข้อมูลการรักษาโรคโควิด-19

วารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Nature Microbiology ฉบับล่าสุด 4 พฤษภาคม 2023 ลงบทความทบทวนความรู้วิชาการที่ดีมาก เกี่ยวกับยารักษาโรคโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากสเตียรอยด์ที่ใช้ในผู้ป่วยหนัก รวมถึงยาแอนติบอดี้หลายชนิดที่มีอยู่ (ซึ่งปัจจุบันสายพันธุ์ไวรัสอย่าง XBB ก็พบว่าดื้อต่อยาแอนติบอดี้แล้ว) ยังมียาต้านการอักเสบประเภท JAK inhibitor ส่วนยาต้านไวรัสที่มีใช้อยู่นั้นก็เป็นตามที่เราทราบกันคือ Remdesivir, Paxlovid, และ Molnupiravir

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มียามาตรฐานใด ๆ ที่ใช้รักษาภาวะ Long COVID โดยขณะนี้กำลังมีการศึกษาวิจัยกันอยู่ทั่วโลก คงต้องติดตามกันต่อไป

หมอธีระ

…การติดเชื้อแต่ละครั้ง ไม่ว่าครั้งแรก หรือครั้งไหน ๆ ก็ล้วนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต และเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้กับผู้อื่นนอกบ้าน หากไม่สบาย ควรตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

โควิด-19 ยังไม่ใช่หวัดตามฤดูกาล แต่การระบาดมากที่เราเผชิญอยู่นี้ มาจากกิจกรรมเสี่ยงที่มีจำนวนมาก และการไม่ได้ป้องกันตัวอย่างดีพอ

อ้างอิง

1. Reinfections with Different SARS-CoV-2 Omicron Subvariants, France. Emerging Infectious Diseases. November 2022.
2. Occurrence and significance of Omicron BA.1 infection followed by BA.2 reinfection. medRxiv. February 2022.
3. Therapeutics for COVID-19. Nature Microbiology. 4 May 2023.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK