COVID-19

WHO อัปเกรด XBB.1.16 เป็น ‘สายพันธุ์ที่น่าสนใจ’ จับตาแอนติบอดีสำเร็จรูป ‘โซโทรวิแมบ’ หนึ่งเดียวที่จัดการได้

WHO อัปเกรด XBB.1.16 เป็น “สายพันธุ์ที่น่าสนใจ” จับแอนติบอดีสำเร็จรูป “โซโทรวิแมบ” หนึ่งเดียวที่จัดการได้

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ความคืบหน้าเกี่ยวกับไมครอนลูกผสม XBB.1.16 ดังนี้

โอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 จะตรวจกรองกันอย่างไร? จะป้องกัน และรักษากันแบบไหน?

ในประเทศไทยพบ  XBB ประมาณ 52%  และ  XBB.1.16  9.4%

จับตาแอนติบอดีสำเร็จรูป “หนึ่งเดียว” ที่สามารถทำลายโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย  XBB.1, XBB.1.5, และ XBB.1.16

ล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศอัปเกรดให้ XBB.1.16 เป็น “สายพันธุ์ที่น่าสนใจ” (VOI: variant of interest)

XBB.1.16

WHO อัปเกรดเป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ

วันที่ 21 เมษายน 2566 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อัปเกรดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 เป็น “สายพันธุ์ที่น่าสนใจ” (VOI: variant of interest) เนื่องจาก “การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง” และ “ข้อได้เปรียบของ XBB.1.16 ในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นจากหลายประเทศ

โอไมครอน XBB.1.16 พบครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคมปีนี้ และองค์การอนามัยโลกปรับให้เป็นสายพันธุ์ภายใต้การตรวจสอบ (VUM: variant under monitoring) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม

องค์การอนามัยโลกแจ้งว่าจนถึงขณะนี้ มีการรายงานรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมบนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID)  ของโอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 3,648 ตัวอย่างจาก 33 ประเทศ รวมทั้งอินเดีย ในขณะที่(ยังไม่มี) รายงานการเปลี่ยนแปลงความรุนแรง

องค์การอนามัยโลกตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอน XBB.1.16  และเจ็บป่วยต้องรักษาตัวในอินเดียและอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ระดับนี้ “ต่ำกว่าที่เห็นในการระบาดระลอกก่อนหน้านี้”

นอกจากนี้ “ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ได้บ่งชี้ว่าโอไมครอน XBB.1.16 มีความเสี่่ยงด้านสาธารณสุขเพิ่มเติม เมื่อเทียบกับโอไมครอน XBB.1.5 ที่เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งชื่อเล่นให้โอไมครอน XBB.1.16 ว่า อาร์คทูรัส (Arcturus) ตามชื่อดาวที่สว่างที่สุดในซีกโลกเหนือ อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกจะไม่ตั้งชื่อให้กับโอไมครอน XBB.1.16 องค์การอนามัยโลกจะกำหนดชื่อภาษากรีกให้เฉพาะโควิด “สายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC: variant of concern)” เท่านั้น จะไม่ตั้งให้กับ “สายพันธุ์ที่น่าสนใจ (VOI: variant of interest)” หรือ “สายพันธุ์ภายใต้การตรวจสอบ (VUM: variant under monitoring)”

XBB.1.16

การตรวจกรองกลุ่มโอไมครอนลูกผสม XBB รวมถึง XBB.1.16 ในไทย

ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 พบการระบาดของโอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 ในหลายประเทศ และ 1 เมษายน 2566 ศูนย์จีโนมฯ ร.พ. รามาธิบดี รายงานพบผู้ติดเชื้อ XBB.1.16 รายแรกในประเทศไทยอาศัยข้อมูลรหัสพันธุกรรมจากฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส (GISAID)”

https://www.facebook.com/CMGrama/posts/pfbid02dYFU8apdCcMDBeLLUMLHuKYg7fmaDJ7jB1fqKy7B8LmGZxAnpDnd68ER8wUuQu7kl

วันที่ 21 เมษายน 2566 ศูนย์จีโนมฯ ร.พ. รามาธิบดี ได้ดึงข้อมูลรหัสพันธุกรรมจากฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส” มาวิเคราะห์พบโอมิครอน 14 สายพันธุ์ย่อยที่พบมากในประเทศไทยเรียงตามลำดับดังนี้  โดยพบกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ XBB ประมาณ 52%  และ  XBB.1.16 อยู่ในลำดับที่ 5 จำนวน 21 รายจาก 224 ราย หรือคิดเป็น 9.4% จากเชื้อโควิด-19ทั้งหมดที่ถอดรหัสพันธุกรรมภายในประเทศในช่วง 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา

  • XBB.1.5  จำนวน 34 ราย (15.2%)
  • BN.1.3  จำนวน 23  ราย (10.3%)
  • BN.1.2  จำนวน 22  ราย (9.8%)
  • XBB.1.9.1 จำนวน 22 ราย (9.8%)
  • XBB.1.16 จำนวน 21 ราย (9.4%)***ลำดับที่ 5
  • XBB.1.9.2 จำนวน 10 ราย (4.5%)
  • BN.1.2.3 จำนวน 7 ราย (3.1%)
  • CH.1.1  จำนวน 6 ราย (2.7%)
  • XBB.2.3 จำนวน 6 ราย (2.7%)
  • XBL จำนวน 5 ราย (2.2%)
  • XBB.1.5.24 จำนวน 4 ราย (1.8%)
  • BA.2 จำนวน 3 ราย (1.3%)
  • BA.2.75 จำนวน  3 ราย (1.3%)
  • BN.1 จำนวน  3 ราย (1.3%) ฯลฯ

XBB.1.16

ขณะนี้ทางศูนย์จีโนมฯ รพ. รามาธิบดี ได้พัฒนาชุดตรวจเชื้อโอไมครอนของกลุ่มสายพันธุ์ย่อย XBB เพื่อสามารถแยกจากสายพันธุ์อื่นเสร็จเป็นที่เรียบร้อยด้วยเทคโนโลยี Mass array genotyping โดยตรวจรู้ผลภายใน 24-48 ชั่วโมง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจ PCR (ที่ไม่อาจตรวจทราบสายพันธุ์) เพียงเล็กน้อย และประหยัดกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนม เนื่องจากมีความจำเป็นสำหรับแพทย์ เพื่อเลือกใช้ยาต้านไวรัสประเภทแอนติบอดีสำเร็จรูปกับผู้ป่วยได้ถูกต้องและทันท่วงที

โซโทรวิแมบ แอนติบอดีสำเร็จรูปเพียงหนึ่งเดียวที่ต้านได้

ซึ่งทีมนักวิจัยประเทศญี่ปุ่นนำโดย ดร. เคอิ ซาโต้ (Kei Sato) จากมหาวิทยาลัยโตเกียว พบว่ามีแอนติบอดีสำเร็จรูปเพียงชนิดเดียวคือ “โซโทรวิแมบ (Stromab)” ที่แสดงฤทธิ์ต้านไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB.1, XBB.1.5, XBB.1.16 ได้ดี ส่วนแอนติบอดีสำเร็จรูปประเภทอื่นไม่สามารถเข้าจับและทำลายบรรดาโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ไปมากจนแอนติบอดีจำไม่ได้

XBB.1.16

ศูนย์จีโนมฯ รพ. รามาธิบดี ยังเร่งพัฒนาต่อยอดชุดตรวจในปัจจุบันให้สามารถแยกโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย ครอบคลุมสายพันธุ์ที่กำลังเป็นปัญหา อาทิ  XBB.1.16,XBB.1.9.1, และ XBB.1.5 ออกจากสายพันธุ์อื่นเพื่อการรักษาแบบมุ่งเป้าหรืออย่างจำเพาะด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้ทันต่อการระบาดใหญ่ของบรรดาสายพันธุ์ย่อยในกลุ่ม XBB ที่กำลังเกิดขึ้น

XBB.1.16

อัตราการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว

ศูนย์จีโนมฯ รพ. รามาธิบดี ยังได้ทำการวิเคราะห์จากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่าโอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า

  • XBB.1.5 ประมาณ 84%
  • BN.1.3  ประมาณ 138%
  • BN.1.2  ประมาณ 135%
  • XBB.1.9.1 ประมาณ 55%
  • XBB.1.9.2 ประมาณ 48%

XBB.1.16

คาดว่า XBB.1.16 จะเข้ามาแทนที่ BN1.3, BN.1.2, และ XBB.1.5 ในประเทศไทยภายใน 1-3 เดือนจากนี้

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกพบว่า  XBB.1.16 มีค่าระดับการติดเชื้อยังผล (Effective reproduction number)สูงกว่า XBB.1 และ XBB.1.5 ประมาณ 1.27 และ 1.17 เท่า ตามลำดับ ซึ่งบ่งชี้ว่า XBB.1.16 มีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยเข้ามาแทนที่สายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในขณะนี้คือ XBB.1 และ XBB.1.15

หมายเหตุ

ค่าระดับการติดเชื้อยังผล (Re): เป็นพารามิเตอร์ทางระบาดวิทยาที่สำคัญซึ่งวัดความสามารถในการแพร่เชื้อของโรคติดเชื้อ

แสดงถึง: จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยเฉลี่ยที่เกิดจากผู้ติดเชื้อรายเดียว

Re > 1: การระบาดใหญ่ขึ้น (ผู้ติดเชื้อแต่ละคนแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นมากกว่าหนึ่งคน)

Re < 1: การระบาดลดลง (ผู้ติดเชื้อแต่ละคนติดเชื้อน้อยกว่าหนึ่งคน)

Re = 1: สถานการณ์คงที่ (จำนวนผู้ติดเชื้อคงที่)

การรักษาด้วยด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูป

การรักษาการติดเชื้อโอไมครอนลูกผสมกลุ่ม XBB อันรวมถึง XBB.1.16 ด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูป

ในกลุ่มเปราะบางที่ติดเชื้อโควิดในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาแอนติบอดีสำเร็จรูป (monoclonal antibody) เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันในทันที เพื่อต่อสู้กับเชื้อโควิดในร่างกาย อาทิ

แบมลานิวิแมบ (Bamlanivimab/LY-CoV555) มีเป้าหมายเข้าจับกับโปรตีนหนามของ ไวรัสโควิด-19  ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์

อีเทเสวิแมบ (Etesevimab/LY-CoV016) มักใช้ร่วมกับ แบมลานิวิแมบ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

คาซิริวิแมบ (Casirivimab/REGN10933 และ อิมเดวิแมบ (Imdevimab/REGN10987) มีเป้าหมายที่โปรตีนหนามของไวรัสโควิด -19 เมื่อใช้ร่วมกันในรูปยาผสมจะเรียกว่า โรนาพรีเว่ (Ronapreve หรือ REGEN-COV สามารถลดความเสี่ยงของโควิด-19 รุนแรงได้

โซโทรวิแมบ (Sotrovimab/VIR-7831) เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดีชนิดเดียวในปัจจุบันที่สามารถจับกับส่วนหนามและทำลายโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย  XBB.1, XBB.1.5, และ XBB.1.16 ลงได้ ลดความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มโอไมครอน XBB*

XBB.1.16

สถาบันสาธารณสุข โรเบิร์ต ค็อค (Robert Koch Institute/RKI) ประเทศเยอรมัน แนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัส แพกซ์โลวิด, เรมเดซิเวียร์ (Paxlovid, Remdesivir) และ แอนติบอดีสำเร็จรูป โซโทรวิแมบ (Sotrovimab) ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19

โทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) จากการวิจัยพบว่าสามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงของโควิด-19 ได้ ซึ่งเข้าระงับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มากเกินไปหรือที่เรียกว่า “พายุไซโตไคน์” อันนำไปสู่การอักเสบรุนแรง อาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS)

ซิลกาวิแมบ และ ทิซาจวิแมบ (Cilgavimab & Tixagevimab) – โมโนโคลนอลแอนติบอดีเหล่านี้มีเป้าหมายที่ส่วนต่าง ๆ ของโปรตีนของไวรัสโควิด-19  เมื่อใช้ร่วมกันเรียกว่า อีวูเชลด์ (Evusheld/AZD7442) เป็นยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibody – LAAB) ซึ่งได้รับการพัฒนาเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

การรักษาการติดเชื้อโอไมครอนลูกผสมกลุ่ม XBB* อันรวมถึง XBB.1.16   ด้วยยาต้านไวรัส จากข้อมูลล่าสุดพบว่ายาต้านไวรัส เรมเดซิเวียร์ (ให้ทางเส้นเลือดดำ), มอลนูพิราเวียร์, แพกซ์โลวิด, และเอนซิเทรลเวียร์ (remdesivir, molnupiravir, Paxlovid, and ensitrelvir) ซึ่งใช้รับประทานยังคงสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ XBB, XBB.1.5 และน่าจะรวมถึง XBB.1.16 ได้เป็นอย่างดี  ยังไม่พบเชื้อโควิด-19 ดื้อยา

XBB.1.16

การป้องกันด้วยวัคซีน

ทีมวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นว่า XBB.1.16 สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ผู้ติดเชื้อได้รับจากการติดเชื้อโอไมครอน  BA.2 มาก่อนประมาณ 18 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1)  ในขณะที่ XBB.1.16 หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ผู้ติดเชื้อได้รับจากการติดเชื้อโอไมครอนBA.5 มาก่อนประมาณ 37 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1) แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันที่เราได้มาจากการฉีดวัคซีนรุ่นแรกและวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดสองสายพันธุ์ (bivalent covid-19 booster) หรือภูมิคุ้มกันผู้ที่เคยติดเชื้อโอไมครอน BA.2 หรือ BA.5 มาก่อนอาจไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโอไมครอน XBB.1, XBB.1.5, และ XBB.1.16  ได้ดีนัก แต่จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตจากปอดอักเสบได้ดีไม่แตกต่างจากโอไมครอนสายพันธุ์อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ

6 5

เหตุที่หลายฝ่ายคาดว่าโอไมครอน XBB.1.16 จะมาแทนที่ทุกสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบันอาจเนื่องมาจาก (1) มีการกลายพันธุ์โดยเฉพาะส่วนหนามแตกต่างจากโอไมครอน XBB.1.5 และ/หรือ (2) มีกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงโครงสร้างโปรตีนส่วนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนามร่วมด้วยอันอาจมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของไวรัส

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo