COVID-19

‘หมอธีระ’ อัปเดตสถานการณ์โควิด XBB.1.16 กระจายไปแล้ว 34 ประเทศทั่วโลก

“หมอธีระ” อัปเดตสถานการณ์โควิด XBB.1.16 กระจายไปแล้ว 34 ประเทศทั่วโลก กางผลวิจัย! ติดโควิดเสี่ยงเป็นเบาหวาน-โรคหัวใจและหลอดเลือด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิดล่าสุดว่า 20 เมษายน 2566 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 57,321 คน ตายเพิ่ม 136 คน รวมแล้วติดไป 685,909,818 คน เสียชีวิตรวม 6,844,129 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และเม็กซิโก

โควิด XBB.1.16

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 91.98% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 83.08%

…สถานการณ์ในจีน

ข้อมูลจาก China CDC เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า การระบาดในจีนขณะนี้ก็เป็นไปในลักษณะซุปสายพันธุ์ มีทั้ง BF7.14, DY.2, DY.4, BA.5.x และอื่น ๆ แต่สังเกตได้ว่ามีการตรวจพบตระกูล XBB.x มากขึ้นด้วย

…สถานการณ์ในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย

ดังที่ทราบกันว่า XBB.1.16 ระบาดอย่างต่อเนื่อง จำนวนเคสใหม่ที่รายงานในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ยังคงเพิ่มขึ้นชัดเจน เป็นไปในลักษณะ exponential การเฝ้าระวัง ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 กระจายไปแล้ว 34 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

โควิด XBB.1.16

…อัปเดตความรู้โควิด-19

“การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน” Naveed Z และทีมงานวิจัยจากประเทศแคนาดา ศึกษาติดตามผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 629,935 คน เพื่อดูอัตราการเกิดโรคเบาหวานหลังจากที่เคยติดเชื้อไปแล้วนานกว่า 30 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยทำการติดตามผลไปนานเฉลี่ย 257 วัน หรือเกือบ 9 เดือน พบว่ากลุ่มที่เคยติดเชื้อจะมีความเสี่ยงที่จะตรวจพบโรคเบาหวานรายใหม่เกิดขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ 17% (1.17 เท่า)

ทั้งนี้ หากเป็นเพศชาย พบว่าจะเสี่ยงเพิ่มขึ้น 22% (1.22 เท่า) และหากติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล จะเสี่ยงขึ้น 2.4 เท่า และหากป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในไอซียู จะเสี่ยงสูงมากขึ้นถึง 3.3 เท่า

ผลการศึกษาข้างต้น ช่วยกระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ เพราะการติดเชื้อไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่ยังเกิดผลกระทบในลักษณะโรคเรื้อรังระยะยาวตามมาอีกด้วย

โควิด XBB.1.16

“คนสูงอายุที่เคยติดเชื้อโควิด เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด” Gaudet LA และทีมวิจัยจากประเทศแคนาดา ทำการทบทวนหลักฐานวิชาการอย่างเป้นระบบ พบว่า คนสูงอายุ (ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) หากเคยติดเชื้อมาก่อน จะทำให้เสี่ยงที่จะประสบปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดตามมา สูงกว่าปกติถึง 1.26-1.99 เท่า

นอกจากนี้ ทั้งคนวัยทำงานและวัยสูงอายุ ที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็พบว่าทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท และระบบทางเดินหายใจ มากขึ้นกว่าคนทั่วไปราว 2 เท่า

…ด้วยความรู้ทางการแพทย์จนถึงปัจจุบัน Long COVID หรือผลกระทบระยะยาวหลังจากติดเชื้อไปแล้ว สามารถเกิดได้กับแทบทุกระบบในร่างกาย ควรใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาท ระมัดระวังกิจกรรมเสี่ยง ที่แออัด สถานที่ระบายอากาศไม่ดี เลี่ยงการแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่นนอกบ้าน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

  1. Naveed Z et al. Association of COVID-19 Infection With Incident Diabetes. JAMA Network Open. 18 April 2023.
  2. Gaudet LA et al. Associations between SARS-CoV-2 infection and incidence of new chronic condition diagnoses: a systematic review. Emerging Microbes & Infections. 18 April 2023.
  3. Turner S et al. Long COVID: pathophysiological factors and abnormalities of coagulation. Trends in Endocrinology & Metabolism. 19 April 2023.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK