COVID-19

สธ. ยืนยัน ‘วัคซีนโควิด’ ชนิด mRNA ทั้งรุ่นเก่าและใหม่ มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง

สธ. ยืนยัน ‘วัคซีนโควิด’ ชนิด mRNA ทั้งรุ่นเก่าและใหม่ มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง ป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิต

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยังคงเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

วัคซีนโควิด

ยืนยันว่าวัคซีนชนิด mRNA ที่ประเทศไทยจัดหามา ทั้งชนิดรุ่นเก่า (monovalent) และรุ่นใหม่ (bivalent) มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับสูง

วัคซีน mRNA ทั้งรุ่นเก่าและใหม่ มีประสิทธิภาพ ลดป่วยหนักและเสียชีวิต

โดยก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจะออกคำแนะนำการใช้วัคซีนโควิด 19 ในทุกครั้ง ได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคถึงประสิทธิภาพของวัคซีน ความสามารถในการลดการติดเชื้อ ป่วยหนัก และลดการเสียชีวิต หากฉีดวัคซีนได้ครบถ้วน

คณะกรรมการได้คํานึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสําคัญ หากพบเคสที่มีอาการรุนแรงภายหลังการได้รับวัคซีน คณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI) จะลงไปดูรายละเอียด ว่าเป็นผลจากวัคซีนหรือไม่ในทุกราย

นพ.ธเรศ ย้ำว่า ปัจจุบันประเทศไทยฉีดวัคซีนไปมากกว่า 146 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นวัคซีน mRNA มากกว่า 55 ล้านโดส วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพดี มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงที่พบบ่อย มักเป็นอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ต่ำๆ สำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น การแพ้วัคซีน จะพบได้น้อยมาก

วัคซีนโควิด

ฉีดวัคซีนลดโอกาสเกิดหัวใจอักเสบจากโควิด

ในกรณีที่มีการส่งต่อข้อความในสื่อโซเชียล เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจ และสมองอักเสบจากการฉีดวัคซีน โควิด 19 ชนิด mRNA นั้น

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศพบว่า ปัจจุบันยังไม่พบความเกี่ยวข้องของการเกิดอาการสมองอักเสบกับการฉีดวัคซีน โควิด 19 ชนิด mRNA ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตามหลังการฉีดวัคซีน ข้อมูลในประเทศไทยพบได้ประมาณ 1 ราย ต่อการฉีดหนึ่งล้านเข็ม ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง

ในทางกลับกันเราพบว่าผู้ป่วยโควิด 19 จะมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่า 5-10 เท่า และมีความรุนแรงสูงกว่ามากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เมื่อติดเชื้อโควิดจะมีโอกาสเข้าไอซียูหรือเสียชีวิตจากภาวะทางหัวใจและปอดได้สูงหากไม่ฉีดวัคซีน  แต่ถ้าได้รับฉีดวัคซีนภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะพบได้น้อยลงมากแม้จะเป็นโควิด 19

ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่า การฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสเกิดหัวใจอักเสบจากโรคโควิด 19 ได้

วัคซีนโควิด

ศึกษาประสิทธิภาพความปลอดภัย ทั้งก่อนและหลังการขึ้นทะเบียน

ด้าน ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวเสริมว่า การฉีดวัคซีน mRNA ผ่านจุดที่เรียกว่า “ทดลอง” มานานแล้ว เพราะวัคซีน mRNA มีการฉีดไปแล้วมากกว่าพันล้านโดสทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน ต้องเรียกว่าเป็นวัคซีนที่มีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามกระบวนการที่เข้มงวด ทั้งก่อนและหลังการขึ้นทะเบียน

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากการศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมในประชากรที่แตกต่างกัน ผลออกมาชัดเจนว่า ยิ่งอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเท่าใด จำนวนผู้ป่วยรวมถึงอัตราการเสียชีวิตในประชากรจะยิ่งลดลง

ซึ่งเน้นย้ำให้เราเห็นว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการแพร่กระจายโรค และป้องกันการเสียชีวิตในประชากรได้จริง และยังช่วยลดการเกิดภาวะลองโควิด หรืออาการตกค้างหลังจากหายจากโรคโควิดแล้วได้ด้วย และที่สำคัญคือ ในเด็กวัคซีนจะป้องกันภาวะมิสซี (MIS-C) ซึ่งทำให้เด็กป่วยหนักมากได้

ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตามหลังการฉีดวัคซีนชนิด mRNA นั้น ในต่างประเทศมีรายงานอยู่ที่ประมาณ 1 ในแสนโดส ในผู้ที่อายุน้อยและวัยรุ่น ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ในประเทศไทยพบน้อยกว่ามาก คือเฉลี่ยประมาณ 1 ในล้านโดส ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรง

การฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดอาการไข้ เพลีย บางคนหัวใจเต้นเร็วขึ้นและมีความดันโลหิตสูงขึ้นได้ชั่วคราว จึงขอให้พักผ่อนให้เพียงพอหลังการฉีดวัคซีน งดออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงสัปดาห์แรกของการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ชายที่อายุน้อยกว่า 30 ปี หากมีอาการผิดปรกติ ให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo