COVID-19

‘ดร.อนันต์’ อธิบายไวรัสกลายพันธุ์ จับโปรตีนตัวรับเก่ง น่ากลัวกว่าไวรัสหนีภูมิคุ้มกันเก่ง

“ดร.อนันต์” เผยไวรัสกลายพันธุ์ เปลี่ยแปลงตัวเองแบบไม่เน้นหนีภูมิเก่ง แต่เน้นความสามารถจับโปรตีนตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ น่ากลัวกว่าแบบหนีภูมิเก่ง

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เรื่องไวรัสกลายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง จนแพร่ระบาดเร็วขึ้น โดยระบุว่า

ไวรัสกลายพันธุ์

ไวรัส SARS-CoV-2 ที่กลายพันธุ์แบบหนีภูมิคุ้มกันได้ คือ การเปลี่ยนแปลงหน้าตาตัวเอง จนภูมิแอนติบอดีในร่างกายของเราที่จดจำไวรัสตัวเก่าเอาไว้ จำตัวใหม่ไม่ได้ ทำให้ไวรัสติดเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย อันนี้ตรงไปตรงมาครับ

ประเด็นที่มีคำถามเข้ามา เกี่ยวกับไวรัสที่เปลี่ยนแปลงตัวเองแบบที่ไม่เน้นหนีภูมิเก่ง แต่เน้นไปที่ความสามารถในการจับโปรตีนตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ได้ดี จะส่งผลต่อไวรัสอย่างไร เพราะถ้ามีแอนติบอดีจับได้อยู่ถึงแม้จะจับโปรตีนตัวรับได้ดี ก็ไม่มีโอกาสเข้าถึงเซลล์นั้นอยู่ดี

อย่างกรณีของ BA.2.75 ที่ผมพูดถึงงานวิจัยของ Oxford ไปเมื่อวานนี้ว่า ไวรัสเลือกที่จะทำให้ตัวเองจับกับเซลล์ได้แน่นขึ้น (9 เท่า เทียบกับ BA.2 เดิม) แทนที่จะทำให้ตัวเองหนีภูมิเก่ง ๆ

คำตอบของคำถามข้อนี้ อธิบายได้จากบทความชิ้นนึง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร npj vaccines เมื่อหลายเดือนก่อนครับ

อนันต์2 1

ให้ลองนึกภาพกลไกการทำงานของแอนติบอดีในร่างกายของเรา คือ การไปจับกับโปรตีนหนามสไปค์ของไวรัสตำแหน่งเดียวกับสไปค์จับกับโปรตีนตัวรับ

โดยปกติแล้ว ธรรมชาติสร้างแอนติบอดีมา เพื่อจับกับหนามสไปค์แบบจำเพาะ และแน่นกว่าโปรตีนตัวรับมาก แต่ถ้าหนามสไปค์เปลี่ยนตัวเอง จนจับกับโปรตีนตัวรับได้แน่นขึ้นหลาย ๆ เท่า จนอาจจะมากกว่าแน่นกว่าความสามารถของแอนติบอดีที่จะไปจับหนามสไปค์แล้ว

ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสไปค์ในระดับนึง ที่ไปลดคุณสมบัติการจับของแอนติบอดีที่เคยจำเพาะและแน่นมาก ๆ ให้น้อยลง

อนันต์1 1

สิ่งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญให้ไวรัสติดเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ร่างกายเราจะมีแอนติบอดีที่จับไวรัสได้บ้าง (ไวรัสไม่หนีภูมิเก่ง)

ตามแนวคิดนี้ ถ้าไวรัสเปลี่ยนตัวเองให้จับกับโปรตีนตัวรับได้สูงขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่แอนติบอดีสู้ไม่ไหวจริง ๆ มีแอนติบอดีมากเท่าไหร่ จากการกระตุ้นด้วยวัคซีน หรือ ติดเชื้อ ก็อาจจะไม่มีประโยชน์

แต่ข้อมูลตอนนี้เรายังไม่ถึงจุดนั้น และนี่เป็นสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์จะกังวลกับไวรัสที่เปลี่ยนตัวเองแนวนี้มากกว่าเปลี่ยนเพื่อหนีภูมิจากแอนติบอดี

เพราะอย่างหลัง ร่างกายเราสร้างแอนติบอดีตัวใหม่ ที่จำเพาะกับที่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามมาจัดการได้ แต่อย่างแรกต้องสร้างแอนติบอดีแบบจับแน่น ๆ ขึ้น ซึ่งยากกว่ามาก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo