COVID-19

‘ดร.อนันต์’ ไขข้อข้องใจ ทำไมตรวจโควิด-19 ด้วย ATK มีความไวน้อยกว่า RT-PCR

“ดร.อนันต์” แจกแจงความแตกต่างระหว่างการตรวจโควิดด้วย ATK กับ RT-PCR สาเหตุที่ ATK มีความไวน้อยกว่า RT-PCR

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา  ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เรื่อง การตรวจโควิดด้วย ATK และ RT-PCR ต่างกันอย่างไร โดยระบุว่า

ตรวจโควิด

ภาพนี้สวยและอธิบายได้ชัดเจนครับ มาจากบทความในวารสาร Nature reviews microbiology ฉบับล่าสุด

จากภาพจะเห็นว่าตัวอย่างที่เก็บมาการ swab จมูก คอ หรือ จากน้ำลาย จะประกอบด้วยไวรัสที่ยังมีคุณสมบัติสมบูรณ์พร้อมติดเชื้อต่อ หรือ จะเป็นไวรัสที่อนุภาคแตกเสียหายไปต่อไม่ได้ พร้อมเศษโปรตีนที่หลุดออกมาจากอนุภาคดังกล่าว หรือ จะเป็นเศษสารพันธุกรรม RNA ที่ติดมาพร้อมกับตัวอย่าง

การตรวจสารพันธุกรรมด้วยวิธี qRT-PCR หรือ RT-PCR คือ การทำไวรัสมาทำให้แตกออก เพื่อปลดปล่อยสารพันธุกรรมเพื่อออกมาตรวจวัด ซึ่งเป็นการใช้สัญญาณการตรวจพบ เป็นตัวแทนของไวรัสที่อยู่ในตัวอย่างส่งตรวจ

แต่เนื่องจากตัวอย่างที่เก็บมามีเศษ RNA ปนมาด้วยตั้งแต่แรก ดังนั้นการตรวจ RT-PCR สามารถตรวจ RNA ของไวรัสที่แยกออกมาจากไวรัสจริง ๆ หรือ จาก RNA ที่ปนมาตั้งแต่แรกที่ไม่ได้ออกมาจากอนุภาคไวรัสโดยตรง ซึ่งก็ตรงกับที่หลายๆคนเรียกว่า ซากเชื้อ นั่นเอง

ดร.อนันต์

ในกรณีของการตรวจด้วย ATK ซึ่งเป็นการตรวจหาโปรตีนนิวคลีโอแคปซิดของไวรัสซึ่งจะมาจาก 2 แหล่งด้วยกัน คือ อนุภาคไวรัสโดยตรง หรือ เศษโปรตีนที่ติดมาพร้อม ๆ กับอนุภาคที่แตกเสียหายไปแล้ว

แต่เนื่องจากโปรตีน ไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้เหมือนการเพิ่มปริมาณ RNA ด้วย RT-PCR การตรวจวัดจึงจะมีความไวที่น้อยกว่า

สัญญาณ ATK ที่เป็นบวกชัด ๆ จึงต้องมีโปรตีนในปริมาณมากในระดับนึง ซึ่งลำพังโปรตีนจากไวรัสที่เสียสภาพอย่างเดียว คงไม่พอที่จะให้สัญญาณที่ชัดขนาดนั้น ทำให้การตรวจ ATK ที่ได้ขีดที่ชัดเจน จะหมายถึงอนุภาคไวรัสที่สมบูรณ์ยังมีอยู่ในตัวอย่างอยู่ พูดง่าย ๆ คือ ATK บวกชัด คือ ยังมีเชื้อที่แพร่ต่อได้อยู่

ในทางกลับกัน ATK ที่เป็นขีดจาง ๆ หลังป่วยมาสักพัก ก็อาจจะหมายถึงเศษโปรตีน ที่หลุดออกมาจากไวรัสได้เช่นเดียวกัน

ดร.อนันต์1

การตรวจหาอนุภาคที่สมบูรณ์ที่ติดเชื้อได้ต่อ สามารถทำโดยการนำตัวอย่างมาบ่มกับเซลล์ในห้องปฏิบัติการ  แล้วตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในเซลล์เหล่านั้น เช่น การแแสดงออกของโปรตีนของไวรัส หรือ เซลล์ที่ตายลง หรือ ปริมาณไวรัสที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการยืนยันว่า ตัวอย่างมีไวรัสที่ติดเชื้อต่อได้จริง ๆ

นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบปริมาณไวรัสในตัวอย่างดังกล่าว โดยการเจือจางตัวอย่างไปเรื่อย ๆ เพื่อหาจุดสุดท้ายที่เซลล์มีการเปลี่ยนแปลง

เช่น ถ้าเจือจางไป 1000 เท่า ยังสามารถพบเซลล์ที่แสดงออกโปรตีนของไวรัสได้ 5 จุด ก็บอกได้คร่าว ๆ ว่า ตัวอย่างนั้น มีอนุภาคไวรัสที่สมบูรณ์ที่ติดเชื้อต่อได้ที่ 5000 อนุภาคต่อปริมาตรของตัวอย่างที่นำมาทดสอบ

ปล: รูปที่แนบมาด้วยเป็นตัวอย่างเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 แล้วย้อมด้วยแอนติบอดี 1 จุด คือ กลุ่มเซลล์ที่ติดไวรัสได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo