Travel

ศุกร์ (สุข) ละวัด พาย้อนรอยชม ‘Hidden Temple’ วัดลับ ๆ ใน กทม.

วันนี้ ศุกร์ (สุข) ละวัด พาย้อนรอยอดีต ไปกับโปรเกต์ “Hidden Temple” ปลุกชีวิตพื้นที่วัดลับ ๆ ในกรุงเทพมหานคร  ที่ไม่ควรจะถูกเก็บไว้เป็นความลับอีกต่อไป

Urban Ally ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดโครงการ “Hidden Temple” กับ 3 เรื่องราว ใน 3 พื้นที่ย่านฝั่งธนบุรี

เริ่มแรกกับ เรื่องราวของ “จาริกแสวงบุญ” สัมผัสเรื่องราวของพุทธศาสนา และการตกแต่งสถาปัตยกรรมของวัดในมุมมองใหม่ และร่วมชมแสงไฟ และการแสดงยามเย็นที่ใช้วิหารราย วัดอินทาราม

วัดลับ

ย้อนเวลาไปจาริกแสวงบุญ ณ ช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ร่วมเข้าสักการะพระพุทธเจ้าถึงพระคันธกุฎี เมื่อสิ้นพุทธกาล ร่วมเข้าพิธีพระบรมศพ ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า หลังพุทธกาล ร่วมเดินทางตามรอยสมณทูตชาวสยาม ไปไหว้รอยพระบาทที่เขาสุมนกูฏ ลังกา ผ่านการเล่าเรื่องและตีความใหม่ ในวิหารของวัดอินทารามจำนวน 3 หลัง

ถ่ายทอดเรื่องราวพระพุทธศาสนาในรูปแบบร่วมสมัย ร่วมกับจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร สมมติว่าได้เดินทางไปยังสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า

เรื่องที่สองของ Hidden Temple ในหัวข้อ “วัดร้างกับพื้นที่ชุมชน” พามาสัมผัสกับวัดร้าง และวัดลับ ๆ ของย่านบางกอกน้อยที่ชื่อ “วัดภุมรินทร์ราชปักษี” ที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ชุมชนเก่าแก่ ที่มีประวัติย้อนไปได้ถึงปลายสมัยอยุธยา ทั้งยังเป็นวัดที่เต็มไปด้วยงานศิลปะของช่างสกุลวังหน้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยปัจจุบัน วัดนี้มีสถานะเป็นวัดร้างอยู่ใต้การดูแลของ “วัดดุสิดารามวรวิหาร” มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

วัดลับ

ไฮไลต์ของที่นี่ คือ จิตรกรรมฝาผนังที่เลือนราง แต่ในพื้นที่วัดภุมรินทร์ราชปักษี วัด และชาวชุมชนมีความเข้มแข็งมาก มีปราชญ์อาหาร และการละเล่นโบราณ ยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง และรับใช้ชุมชนอยู่

ในการเยี่ยมชม วัดภุมรินทร์ราชปักษี-วัดดุสิดารามวรวิหาร นั้น เริ่มจากด้านในวิหารวัดภุมรินทร์ราชปักษี ที่จัดแสดง Projection mapping เรื่อง ชมพูทวีป เล่าย้อนความเชื่อโบราณเกี่ยวกับชมพูทวีป ประกอบด้วยสัญลักษณ์ของสถานที่ศักด์สิทธิ์ 15 แห่งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ซึ่งในอดีตนั้น เมื่อช่างเขียนโบราณต้องการนำเสนอความเป็นชมพูทวีป ก็นิยมเขียนภาพสัญลักษณ์ทั้ง 15 ไว้ภายในผนังวิหาร

วัดลับ

นอกจากนี้ยังได้นำจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “มหาสุทัสสนสูตร” ซึ่งเป็นพุทธประวัติที่หาชมได้ยาก นำมาเรียบเรียงเล่าใหม่ ผ่านเทคนิคแสง สี เสียง ให้ตรงจริตกับผู้ชมในยุคปัจจุบันยิ่งขึ้น

อีกชิ้นงานที่น่าสนใจอยู่ด้านหลังวิหาร บริเวณพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ ที่ชาวชุมชนเรียก “หลวงพ่อดำ” เป็นผลงาน Interactive projection ชื่อ Flower of Faith โดย 27 JUNE STUDIO ชวนผู้ชมร่วมถวายดอกไม้มงคลเป็นพุทธบูชา

วัดลับ

แต่แทนที่จะเป็นดอกไม้สด ก็กดปุ่มถวายดอกไม้ดิจิทัลนานาชนิด อาทิ ดอกบัว ดอกกล้วยไม้ ดอกดาวเรือง ดอกพุด ดอกบานไม่รู้โรย ดอกจำปี ดอกแก้ว ดอกเบญจมาศ และดอกเข็ม ให้ค่อย ๆ ลอยสู่องค์พระ  พร้อมสร้างลวดลายไทยขนาดเท่าของจริง ฉายทาบลงบนผนังด้านหลังของวิหาร ทั้งซุ้มพระ ฐานอาคาร และลายเครือเถาบนเสา

ย่านสุดท้ายของโครงการ Hidden Temple เป็นอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกลืม ภายใต้แนวคิด “ขอบเขตที่ถูกซ่อนไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่ วัดสวนสวรรค์ และ วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ ซึ่งเชื่อว่าหลาย ๆ คนไม่เคยได้ยินชื่อสองวัดนี้มาก่อน

วัดสวนสวรรค์ เป็นวัดร้างอีกแห่งหนึ่ง ที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนบ้านปูนบางยี่ขัน มีการสันนิษฐานว่า เป็นวัดเก่าแก่ และมีมาก่อนการตั้งชุมชนบ้านปูนบางยี่ขัน

วัดลับ

ในประวัติศาสตร์ของวัดคฤหบดีมีบันทึกไว้ว่า วัดสวนสวรรค์ มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ สร้างโดยราษฎร และถูกทิ้งร้างไปเมื่อปี 2463 ก่อนจะถูกนำมารวมเข้ากับวัดคฤหบดีในปี 2519

ปัจจุบัน สภาพของวัดค่อนข้างทรุดโทรม ประตูทางเข้าโบสถ์ เป็นเพิงหลังคายื่นออกมา บ่งบอกได้ว่าสร้างมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ทั้งยังมีทางเข้าทางเดียว ไม่มีหน้าต่าง มีเพียงช่องแสงเล็ก ๆ อยู่ด้านหลังพระประธาน หลังคายังคงมุงกระเบื้องเกล็ดเต่า บนหน้าบันยังหลงเหลือลายปูนปั้นรูปสวนของพระอินทร์ ซึ่งอยู่บนสวรรค์ ที่เขียนชื่อ “สวนสวรรค์” อย่างสวยงามให้เห็นอยู่

วัดลับ

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ใบเสมา” ที่สร้างขึ้นพิเศษ เป็นแบบหักมุม ที่มีให้เห็นไม่มากนักในปัจุบัน

ส่วนวัดพระยาศิริไอยสวรรค์ ที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัดนั้น ยังมีโบราณสถานสำคัญ อันเป็นจุดเด่นที่สำคัญของวัด คือ เจดีย์ 3 องค์ ที่ตั้งเรียงกันอยู่บริเวณด้านหน้าอุโบสถ สื่อถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

497E594D 91C8 41CE A7DA 17A062411CB1

3E4AC71D 8E29 43D9 9081 A8CC32957D3E

ทั้งนี้ การแสดง “ขอบเขตที่ถูกซ่อนไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่วัดสวนสวรรค์ และ วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ ยังสามารถไปชมได้ถึงวันที่ 25 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 14.00 – 21.00 น.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo