Lifestyle

การแพทย์หลังโควิด-19 อำนาจเป็นของ ‘แพทย์-คนไข้’ ไม่ใช่โรงพยาบาล

“หมออดุลย์” ส่องภาพ การแพทย์หลังโควิด-19 บริบทเปลี่ยน อำนาจทางการแพทย์จะเปลี่ยนมือ จากโรงพยาบาลเอกชน มาเป็นของแพทย์และคนไข้ คลินิกจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยี

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune” ถึงวิวัฒนาการทางการแพทย์ระหว่างคนไข้กับการรักษา จากการไปหาหมอที่คลิกนิก มาเป็นการไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่หลังยุคโควิด-19 มองว่า คลินิกจะกลับมาอีกครั้ง จากเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้า โดยระบุว่า

การแพทย์หลังโควิด-19

“คลินิกจะกลับมาอีกครั้งหลังยุค Covid19

ในยุคพ่อแม่ ปู่ย่า เราจะคุ้นเคยกับการไปหาหมอที่คลินิก ไม่ค่อยไปโรงพยาบาลกัน จนกระทั่งประมาณ 20 ปีมานี้ โรงพยาบาลต่าง ๆ เฟื่องฟู โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน คนยุคใหม่ จึงคุ้นเคยกับการไปหาหมอที่โรงพยาบาล มากกว่าไปคลินิก

แต่ หลังยุค โควิด-19 โลกความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้จะเปลี่ยนไป เปลี่ยนขนานใหญ่ และ คลินิก จะกลับมาอีกครั้ง แต่กลับมาแบบไม่เหมือนเดิม

ถ้าเราศึกษา ประวัติ การดูแลกันระหว่างหมอ กับคนไข้ ในครั้งโบราณเลย เป็นการรวมศูนย์ที่ใช้ พ่อมด หมอผี ประจำหมู่บ้าน เพราะยุคนั้น คนที่มีความสามารถช่วยคนอื่นได้มีน้อย ในหนังทีวี ก็จะเห็น หมอหลวง ซึ่ง คนที่มีความรู้ และช่วยเหลือการรักษาได้มีจำกัด จะไปรวมศูนย์อยู่ที่ใดที่หนึ่ง

คล้ายๆ กับสภาพ โรงพยาบาลในปัจจุบัน ที่รวมเอาคนที่สามารถมาอยู่ด้วยกัน ทุกอย่างพร้อมที่จะดูแลแบบ one stop คือ มีทั้ง คน ทั้งความรู้ ทั้งยา ทั้งลูกมือ ผู้ช่วย

แต่พอยุคที่มีหมอ เพิ่มขึ้น มีการเรียน อย่างเป็นระบบ เป็นแบบแผนเพิ่มขึ้น คนไข้มีความรู้ว่า มีหมอที่สามารถอยู่ที่ไหนบ้าง ก็อยากได้ความสะดวก ไม่ต้องไป ออกัน ไม่ต้องไปเข้าคิวกัน ก็เกิดลักษณะที่หมอมาดูแลคนไข้ที่บ้าน (เพราะมีหมอมากพอที่จะแบ่งกำลังกันไปดูได้) หรือ เป็นการเปิดคลินิก รักษาโรค

ด้วยความที่ลักษณะโรคต่าง ๆ ไม่ได้ซับซ้อนมาก หมอที่เรียนจบมา ก็รักษาโรคได้เป็นส่วนใหญ่ และยาที่ใช้ก็ไม่มากมาย หรือซับซ้อนมาก หมอสามารถเจียด และ จัดหายามาไว้ที่คลินิก ใช้รักษาคนไข้ได้มากกว่า 80-90% จึงไม่แปลกใจ ที่ยุคนั้น คลินิกต่าง ๆ จึงเฟื่องฟู เพราะ ผลประโยชน์ร่วมกัน demand กับ supply ตรงกัน

ยุคถัดมา เมื่อประมาณ 30-40 ปีนี้เอง ที่ความรู้ทางการแพทย์เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว การรักษาซับซ้อนขึ้น การใช้ยาซับซ้อนขึ้น มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีรายละเอียด และราคาแพง ในการช่วยวินิจฉัย และช่วยรักษา มีแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นว่า แพทย์เฉพาะทาง สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิผล มากกว่า ในบางโรค ทำให้ คนไข้เองเลือกที่จะปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

และความเฉพาะทาง ก็ทำให้ต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ราคาสูงเกินกว่าที่จะซื้อไว้ใช้เองคนเดียวที่คลินิก ทั้งราคาก็แพง การใช้ก็ไม่บ่อย จึงไม่คุ้มค่า

การแพทย์ยุคปัจจุบัน จึงเป็นยุคที่แพทย์เลือกที่จะใช้โรงพยาบาลเป็นฐาน ไม่ต้องลงทุนเอง ให้โรงพยาบาลลงทุนให้ และตนเองใช้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วย ไปทำงาน ทำการรักษาที่โรงพยาบาล

ยุคที่ตลาดเป็นของโรงพยาบาลเอกชน

ความเป็นโรงพยาบาลเอกชน จึงรุ่งเรือง เพราะมีความต้องการสูง ทั้งคุณภาพ และความสะดวกสบาย แต่ตลาดเป็นของฝั่งโรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่ของฝั่งคนไข้ หรือ หมอ

ยุค Covid19 เป็นสถานการณ์ บังคับหลายอย่าง ทำให้คนเริ่มมองหาช่องทางในการติดต่อรักษา ระหว่างคนไข้กับหมอ ด้วยวิธีการต่าง ๆ และ ทำให้มองเห็นช่องทางในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด รวดเร็ว และได้ผล ไม่ด้อยไปกว่า การรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ร่วมกับ การใช้เทคโนโลยี ด้านสารสนเทศที่ทันสมัย

จึงเชื่อว่า ยุคหลัง โควิด19 แพทย์และคนไข้ จะดูแลรักษาโรคด้วยกัน ผ่านการทำงานในลักษณะของคลินิกมากขึ้น และเป็นอิสระจากโรงพยาบาลมากขึ้นครับ มาดูกันว่าจะเป็นอย่างไรครับ

ยุคที่ผ่านมา ประวัติการรักษา ผลการเจาะเลือด เอกซเรย์ ติดอยู่กับตัวโรงพยาบาล หรือคลินิกที่ไปตรวจ คนไข้ถ้าจะนำผลจากที่หนึ่งไปให้หมอคนอื่นดู ก็ต้องขอสำเนาไป จากรูปในกระดาษ กลายเป็น file ข้อมูล ที่เป็น digital (อำนาจ อยู่ที่ฝั่ง รพ)

หมออดุลย์

เทคโนโลยีเปลี่ยนการแพทย์หลังโควิด-19

เทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป การย้าย หรือถ่ายข้อมูลการเจ็บป่วย และการรักษาทำได้ง่ายขึ้น การร้องขอข้อมูลเป็นของคนไข้ ดังนั้น อำนาจเรื่องข้อมูลการเจ็บป่วยจึงค่อยๆ ย้ายมาอยู่ที่ฝั่งผู้ป่วย

หาก ผู้ป่วย ชอบพอหมอคนไหน หรือเชื่อใจหมอคนไหน การนำประวัติการเจ็บป่วยมาให้หมอท่านนั้นดู หรือ ดูแลก็ไม่ใช่เรื่องยาก และหากหมอท่านนั้นดูแลแล้ว เมื่อจำเป็นต้องไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ ผ่าตัด เข้า ICU ก็สามารถส่งประวัติจาก คลินิกของหมอท่านนั้น ได้โดยไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้ เหมือนหนึ่งคนไข้ได้รับการตรวจรักษาที่รงพยาบาล และ ดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องได้เลย

ปัญหาเรื่อง ข้อจำกัดเกี่ยวกับข้อมูลการเจ็บป่วยและผลตรวจ จึงค่อย ๆ หายไป

การต้องใช้เครื่องมือตรวจวินิจฉัยที่ซับซ้อนราคาแพง ด้วยเทคโนโลยีแบบเดียวกัน แพทย์ก็สามารถส่งผู้ป่วยจากคลินิกไปรับการตรวจ ที่ศูนย์ตรวจ หรือ รพ. ได้ และ ดูผลได้โดยตรงที่คลินิก โดยไม่ต้องไปที่โรงพยาบาล นั่นหมายถึงผลประโยชน์ร่วมกัน

ศูนย์ตรวจหรือโรงพยาบาล ได้ตรวจคนไข้ด้วยเครื่องมือราคาแพง และ มีรายได้ หมอก็ได้ผลตรวจโดยไม่ต้องลงทุนเอง

การสั่งเจาะเลือด ก็เหมือนกัน การสั่งใช้ยา ก็เหมือนกัน นั่นหมายถึง สั่งยา และ ให้ส่งยาไปรษณีย์ หรือปรับยาที่ร้านขายยาได้ โดยที่คลินิกหมอไม่ต้อง ทำ stock ยาของตนเอง

ยามที่ต้องผ่าตัด หรือ นอนให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล หมอก็แค่ส่งประวัติ และคำสั่งการรักษาไปที่โรงพยาบาล พร้อมตัวคนไข้ คนไข้ admit และหมอก็ตามไปดู ไปรักษา ไปผ่าตัด

พอออกจาก รพ คนไข้ก็มาติดตามการดูแลกับหมอต่อที่คลินิกด้วยประวัติ รายละเอียด ชุดเดียวกัน

การปรึกษาหมอที่คลินิก ยังสามารถทำแบบ เจอกันตัวเป็น ๆ หรือ ทำผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เพราะ หมอกับคนไข้ รู้จักกันดีอยู่แล้ว ถ้าจำเป็นหมอก็เชิญคนไข้มาตรวจที่คลินิก

ใช่ไหมครับ หมอหนึ่งคน มีอิสระที่จะส่งคนไข้ไป admit หรือผ่าตัดได้หลายโรงพยาบาลตามที่คนไข้สะดวก และดูแลคนไข้ได้จากทั่วประเทศ ไม่ได้ผูกติดกับโรงพยาบาลอีกต่อไป เป็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่าง หมอกับ คนไข้

การส่งปรึกษา กันและกัน ก็ทำได้ง่าย หมอแต่ละคน จะมีคลินิกของตัวเอง

การแพทย์หลังโควิด-19 จะอยู่ในอำนาจของคนไข้และหมอ ไม่ใช่โรงพยาบาล ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo