Lifestyle

‘หมอธีระวัฒน์’ แนะทำอย่างไร ‘สูงวัย’ อย่างซุปเปอร์

“หมอธีระวัฒน์” แนะทำอย่างไร “สูงวัย” อย่างซุปเปอร์ ชี้ร่างกายดีอย่างเดียวไม่พอ สมองต้องดีด้วยโดยเฉพาะเมื่ออายุสูงวัย   

 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thiravat Hemachudha”  ทำอย่างไรเป็นสูงวัยอย่างซุปเปอร์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

คนเรานั้นร่างกายดีอย่างเดียวไม่พอ สมองต้องดีด้วยโดยเฉพาะเมื่ออายุสูงวัยขึ้น

ในปัจจุบันนั้นวัยกลางคนนับตั้งแต่อายุ 30 จนถึง 65 เริ่มสูงวัยตั้งแต่ 65 ถึง 80 และสูงวัยขึ้น (older old) คืออายุเกิน 80 ขึ้นไป

ในขณะเดียวกันนั้น เราทราบกันดีแล้วว่า โรคสมองเสื่อมอันมี อัลไซเมอร์ เป็นสำคัญ ถ้าหากดูตัวชี้วัดโดยการทำการตรวจสมองโดยใช้เวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือเพ็ทสแกน ตามข้อมูลทางการศึกษาจากหลายเชื้อชาติจะพบว่าที่อายุ 60 ปี จะมีการเกาะตัวของโปรตีน อมิลอยด์ ที่บ่งบอกถึง อัลไซเมอร์ อยู่ถึง 16% ด้วยกัน แต่ทั้งนี้ ถ้าทำการตรวจเฉพาะรายบุคคลโดยการตรวจเลือดหาโปรตีน ทาว เช่น p-Tau 181 หรือ 217 และค่าออกมาเป็นปกติ โดยที่ภายนอกแล้วดูการทำงานของสมองยังฉับไวอยู่โอกาสที่จะพบความผิดปกติจากเพ็ทสแกน จะเหลือเพียงไม่ถึง 2%

อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสของความผิดปกติในสมองจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้โดยที่จะมีอาการออกมาหรือไม่ออกมาก็ตาม

375571301 691450483023269 5387576574705195174 n

การที่ข้างนอกยังดูดีแม้ข้างในมีความผิดปกติในสมองแล้ว หรือที่เราเรียกว่า resilience สามารถอธิบายได้จากการทำงานทดแทนโดยการประสานเชื่อมโยงเส้นไยประสาทให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากการทำงานของเส้นใยประสาทด้วยการตรวจคอมพิวเตอร์แม่เหล็กไฟฟ้าแบบพิเศษที่เรียกว่า diffusion tensor Imaging

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นไปได้ที่แม้อายุ สูงมากแล้วก็ตามคือตั้งแต่อายุ 80 ขึ้นไป กลับยังมีความกระฉับบกระเฉงทางสมอง รวมทั้งมีการฝ่อเหี่ยว ของสมองโดยรวมที่ช้ากว่าโดยเฉพาะส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและความจำ และเป็น resistance หรือมีของดีที่สู้กับกลไกเสื่อมของสมอง

การวิเคราะห์เจาะลึกของผู้สูงวัยอย่างซุปเปอร์ หรือที่เรียกว่า Superager รายงานในวารสาร Lancet Healthy Longev. เดือนสิงหาคม 2023 โดยที่ซุปเปอร์สูงวัย จะมีประสิทธิภาพการทำงานของสมองเทียบเท่ากับหรือเหนือกว่าคนที่อายุ 50 ถึง 56 ปี ทั้งนี้ยังได้ทำการติดตามในระยะยาวต่อไปอีกห้าปี

และเมื่อ จำแนกแจกแจงการใช้ชีวิต พฤติกรรม รวมทั้งตัวแปรอื่นๆ 89 ชนิด สามารถระบุได้ ค่อนข้างดีพอสมควรว่า การที่มีการเคลื่อนไหวคล่องแคล่วฉับไวมีกิจกรรมกายสม่ำเสมอ ในชีวิตประจำวัน และไม่ได้ขึ้นอยู่กับการออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราว ส่งผลให้เป็นซุปเปอร์ และอีกประการก็คือสุขภาพจิตที่ยังคงดี แม้ว่าจะประสบปัญหาคู่ชีวิตถึงแก่กรรม หรือหย่าร้าง หรือมีปัญหาอย่างอื่นก็สามารถสงบจิตและปล่อยวางได้

การศึกษานี้ยังได้ทำการตรวจดัชนีชีวภาพในเลือดด้วยวิธี single molecule assay ต่อตัวโปรตีน

อมิลอยด์ ทาว 181 NFL ซึ่งสะท้อนการทำลายของสมอง และ GFAP ซึ่งบอกถึงการอักเสบและเป็นตัวปะทุ ขั้นตอนสมองเสื่อม

ทั้งนี้ในสองกลุ่ม ของสูงวัย มาก ที่สมองซุปเปอร์ กับสมองธรรมดา ไม่มีความแตกต่างกันในผลเลือดเหล่านี้

shutterstock 622200797

แต่ที่เห็นชัดเจนก็คือ ความฝ่อเหี่ยว ของสมองส่วนสีเทา grey matter ซึ่งเป็นตำแหน่งของเซลล์ประสาทนั้น ฝ่อน้อยกว่าและช้ากว่าในสมองซุปเปอร์โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ medial temporal lobe cholinergic forebrain

และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว motor thalamus

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ แม้จะไม่สามารถระบุได้ว่า สูงวัยสมองซุปเปอร์จะมีความดีของรหัสพันธุกรรมที่เหนือกว่าคนอื่นหรือไม่ก็ตาม

แต่ก็บ่งชี้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่อยู่เฉย ทอดหุ่ยเนือยนิ่ง ไม่ต้องถึงกับการออกกำลังแบบคาร์ดิโอหรือแอโรบิกด้วยซ้ำ ควรจะมีผลในการปกป้องสมองและควบรวมกับจิตใจที่สดใสไม่ขุ่นข้อง หมองเคือง แม้จะประสบกับสถานการณ์ที่ลำบากจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้ร่างกายและสมองสดใสยั่งยืนไม่เป็นภาระกับสังคม

แต่ต้องไม่ลืมว่าอาหารการกินเข้าใกล้มังสวิรัติและลดเนื้อสัตว์ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเป็นพื้นฐานของชีวิตด้วยครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight