Lifestyle

แพทย์ เตือน 5 ปัจจัยเสี่ยง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อันตรายถึงชีวิต

แพทย์ เตือน สัญญาณโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อันตรายถึงชีวิต ลดละเลิก 5 พฤติกรรมเสี่ยง หากพบอาการผิดปกติ พบแพทย์ทันที

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน คนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมากที่สุด เป็นอันดับ 3 รองจากอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง  จากสถิติพบว่า มีผู้ป่วยเกิดขึ้นใหม่ 21,700 รายต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

สาเหตุของโรคดังกล่าว เกิดจากการรวมตัวกันของไขมันที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดหัวใจหนาขึ้น ซึ่งไขมันนี้เกิดจากคอเลสเตอรอล ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวและหนาตัวขึ้น ร่างกายจึงไม่สามารถส่งเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยง ที่เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น มี 2 กลุ่ม คือ

1. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ อายุที่มากขึ้นมีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้น โดยเพศชายมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิงในวัยที่ยังมีประจำเดือน ในขณะที่วัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเกิดเท่ากับเพศชาย ปัจจัยด้านพันธุกรรม

2. ปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกินมาตรฐาน รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และความเครียด ส่งผลทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดหลอดเลือดหัวใจนั้นตีบตันในที่สุด

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์

เผย 5 พฤติกรรมเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • การรับประทานอาหารไขมันสูง ส่งผลต่อการเพิ่มสูงขึ้นของคอเลสเตอรอลในเลือด ทำให้การตีบตันของหลอดเลือดต่าง ๆ รวมไปถึงหลอดเลือดหัวใจ อันเป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • ไม่ออกกำลังกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจ ขาดความแข็งแรงคงทุน การออกกำลังกายสม่ำเสมอช่วยในการลดและป้องกันการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบตันด้วย
  • ภาวะเครียดเรื้อรัง มีผลต่อการกระตุ้นให่เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน และภาวะเครียดอย่างรุนแรง ยังมีโอกาสก่อให้เกิดภาวะหัวใจสลาย อันเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน
  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน การมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน สามารถวัดได้จากรอบเอว การตรวจดัชนีมวลกาย พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคทางเดินอากาศอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุและปัจจัยในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • สูบบุหรี่ ส่งผลต่อการบาดเจ็บของหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ เมื่อประกอบกับภาวะเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ก่อให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตามมา และกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลันร่วมด้วย

โรคหลอดเลือดหัวใจ

นายแพทย์เคย์ เผ่าภูรี หน่วยโรคหัวใจ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่าอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันนั้น ผู้ป่วยสามารถมีอาการ เจ็บที่บริเวณหน้าอกคล้ายของหนักมาทับในขณะพัก และอาจมีอาการร้าวไปที่บริเวณแขน สะบัก ไหล่ หรือ ขากรรไกรด้านซ้ายได้

นอกจากนี้ยังอาจพบว่ามีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น อาการหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ใจสั่น เหงื่อออกมาก คลื่นไส้อาเจียนหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หรือ หมดสติ หากสังเกตุพบอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุดโดยทันที

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo