General

ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจ รอฟังข่าวดี ‘สปสช.’ เร่งถกใช้ ‘ยาทีเนคทีเพลส’ รักษาอันดับแรก

สปสช. เตรียมถกคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรับเงื่อนไขใช้ “ยาทีเนคทีเพลส” เป็นอันดับแรกในการรักษา ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.อยู่ระหว่างการเตรียมหารือกับ คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ในการปรับเงื่อนไขการใช้ยา Tenecteplase (ทีเนคทีเพลส) ซึ่งเป็นยาอันดับแรก สำหรับการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) ร่วมกับมีภาวะการทำงานของระบบไหลเวียนของเลือดผิดปกติ

shutterstock 1419286046

ทั้งนี้ เดิมทีสิทธิประโยชน์ของ สปสช. สำหรับผู้ป่วย STEMI จะมียา 2 ตัวคือ ยา Streptokinase (สเตรปโตไคเนส) ซึ่งเป็น First line drug หรือยาลำดับแรกที่ให้ผู้ป่วย หากมีอาการตรงตามข้อบ่งชี้

แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยา Streptokinase (สเตรปโตไคเนส) หรือมีประวัติได้รับยาไม่เกิน 6 เดือน ก็จะให้ยา Alteplase (แอลทีเพลส) แทน ถือเป็นยาลำดับที่ 2 หรือ Second line drug ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และต่อมาได้เพิ่มยา Second line drug อีกตัวหนึ่ง ชื่อยา Tenecteplase (ทีเนคทีเพลส)

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้เพิ่มเงื่อนไขให้ใช้ยา Tenecteplase (ทีเนคทีเพลส) เป็น Fist line drug ในกรณีที่เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจด้านหน้าขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน (Anterior wall STEMI) ร่วมกับมีภาวะการทำงานของระบบไหลเวียนของเลือดผิดปกติ

แต่เงื่อนไขดังกล่าว ยังขัดกับแนวเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นแนวเวชปฏิบัติมาตรฐานสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในประราชูปถัมภ์ สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาโรคหัวใจ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำเป็นแนวปฏิบัติซึ่งระบุไว้ว่า

สปสช.

ให้ใช้ยา Tenecteplase (ทีเนคทีเพลส) ในกรณีที่เป็น STEMI แล้วมีการทำการรักษาแบบ Pharmacoinvasive strategy หรือการให้ยาละลายลิ่มเลือด แล้วนำผู้ป่วยไปสวนหัวใจ และเปิดหลอดเลือดให้เร็วที่สุด

สปสช. จึงมีแนวคิดที่จะปรับเงื่อนไขการจ่ายชดเชย ให้สอดคล้องกับแนวเวชปฏิบัติ โดยให้ยา Tenecteplase (ทีเนคทีเพลส) เป็น First line drug เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมากกว่า

ทั้งนี้เนื่องจากการรักษาผู้ป่วย STEMI ที่ดีที่สุด คือ การสวนหัวใจ และเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน โดยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน และการใส่โครงลวดค้ำยันหลอดเลือด (stent) แต่เนื่องจากบริบทของเมืองไทยอาจทำแบบนี้กับผู้ป่วยทุกรายไม่ได้

นอกจากนี้ หน่วยบริการบางแห่งไม่สามารถทำการสวนหัวใจและเปิดหลอดเลือดหัวใจได้ทันภายใน 120 นาที ก็จะซื้อเวลาไปก่อน โดยใช้ยา Tenecteplase (ทีเนคทีเพลส) ให้เส้นเลือดหัวใจเปิด แล้วถึงมาทำการสวนหัวใจในภายหลัง หรือในหน่วยบริการที่ไม่สามารถสวนหัวใจได้ก็ฉีดยา Tenecteplase (ทีเนคทีเพลส) แล้วส่งต่อไปโรงพยาบาลที่สามารถทำได้โดยเร็วที่สุด

ถ้าเป็นยาเดิมที่ให้ยา Streptokinase (สเตรปโตไคเนส) ก่อน แล้วค่อยไปสวนหัวใจ อาจเกิดปัญหาเลือดออก ซึ่งควบคุมยากกว่าการใช้ยา Tenecteplase (ทีเนคทีเพลส)

ดังนั้น Tenecteplase (ทีเนคทีเพลส) จึงเป็นยาที่เหมาะกับการฉีดก่อนนำผู้ป่วยไปสวนหัวใจขยายหลอดเลือด มีความปลอดภัยมากกว่า

ขณะที่ตัวเลขเฉลี่ยผู้ป่วยที่ต้องรับยาละลายลิ่มเลือดแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 ราย ถ้ามีการปรับเงื่อนไข ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็จะได้ประโยชน์ ได้ยาตัวใหม่ที่มีประสิทธิผล มีความปลอดภัยกว่าเดิม

ทั้งนี้ สปสช. จะหารือในเชิงวิชาการร่วมกับ คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ได้ข้อสรุปเสียก่อน โดยจะพยายามหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุป ภายในวันที่ 15 มกราคม 2566 นี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo