“ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน” มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน บางรายอาจมีสุขภาพปกติแข็งแรงดี แต่อยู่ ๆ ก็มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า หัวใจขาดเลือด (Heart Attack) หรือ หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอุดตัน
อาการผิดปกติที่สำคัญ เช่น มีอาการเจ็บหน้าอกฉับพลัน มีเหงื่อออกตามร่างกาย เหนื่อยง่าย หายใจถี่ วิงเวียน หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว ถ้าคนไข้มีการสูบบุหรี่เยอะจะมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายฉับพลันได้มากกว่าคนอื่น ๆ
การสูบบุหรี่คนส่วนใหญ่จะมองว่าต้องเป็นมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง แต่ความจริงที่ภัยที่มาจากบุหรี่ ทางด้านหัวใจก็อันตรายไม่แพ้กัน เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ไขมันเกาะอยู่ตามเส้นเลือดที่จะเกิดการปริ ง่ายกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่
สาเหตุการเกิดภาวะหัวใจวาย เฉียบพลัน
อายุมากขึ้น ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน เส้นเลือดก็จะค่อยๆ ตีบตันไปเรื่อย ๆ จนคนไข้มีภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
กลุ่มที่ไม่ทราบอาการ เส้นเลือดหัวใจเดิมอาจมีรอยตีบตันเล็กน้อย หรือว่ามีไขมันเกาะอยู่เล็กน้อย วันหนึ่งเกิดอาการแตก หรือปริออกจากทางด้านในหลอดเลือด (Luminal side) อาจตีบขึ้นเป็น 100% ภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก และทำให้เกิดอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
ผู้ที่มีการสะสมของไขมันในเส้นเลือดแดง จะทำให้เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยไขมันที่สะสมนั้นเกิดจากไขมันคลอเรสเตอรอล และสารอื่น ๆ รวมกัน เกาะอยู่ภายในเยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นใน ภาวะนี้เรียกว่า atherosclerosis หรือภาวะเส้นเลือดแดงแข็ง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการ
- สูบบุหรี่
- ไขมันในเส้นเลือดสูง
- เบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- โรคอ้วน
ขั้นตอนการรักษา
หัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่าเฉียบพลัน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะยิ่งรักษาเร็วก็จะสามารถยับยั้งความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจและช่วยให้การฟื้นฟูเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจขาดเลือด
การรักษาโดยใช้ยาสลายลิ่มเลือด แพทย์จะฉีดยาที่มีฤทธิ์ในการละลายเลือดที่อุดตันอยู่ที่เส้นเลือดแดงหัวใจ มักจะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลเร็วและไม่มีข้อห้ามในการใช้
การรักษาโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน วิธีนี้ได้ผลการรักษาดีกว่าการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยไม่ต้องมีแผลผ่าตัด พักฟื้นไม่นานแต่ต้องทำในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ห้องฉีดสีสวนหัวใจ ทีมแพทย์ พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
การรักษาโดยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ส่วนมากทำในกรณีที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตันหลายเส้น และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้
ที่มา: โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ปวดหลังเรื้อรัง ระวัง!! สัญญาณเตือน เนื้องอกไขสันหลัง ร้ายแรงถึงอัมพาต
- กรมการแพทย์เตือน! ระวัง ‘โรคตาแห้ง’ ช่วงหน้าหนาว ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง เช็กเลย
- สถาบันมะเร็ง เปิดตัวเครื่องจำลอง รักษาด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า