Environmental Sustainability

‘เลขาธิการ สผ.’ ชี้ไทยต้องเร่งหา ‘เงิน-เทคโนโลยี’ เพื่อเลิกใช้ ‘ถ่านหิน’ พร้อมชาติพัฒนาแล้ว

เลขาธิการ สผ. ชี้ ไทยต้องเร่งมองหาความร่วมมือ การสนับสนุนทางด้านการเงิน และเทคโนโลยี จากประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ลดใช้พลังงานจากถ่านหิน และเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะยุติการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมกับประเทศพัฒนาแล้ว

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ ดร.ณัฏฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) เข้าร่วมการประชุม COP Presidency Event: Powering the World Past Coal  ซึ่งจัดขึ้นรพหว่างการการประชุม  COP26/CMP16/CMA3 โดยมีนาย อาลก ชาร์มา ประธาน COP 26 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม

ถ่านหิน

ในการประชุม COP23 เมื่อปี 2560  สหราชอาณาจักร ได้ร่วมมือกับแคนาดาก่อตั้งกลุ่ม The Powering Past Coal Alliance (PPCA) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศ และหน่วยงานต่าง ๆ แสดงความตั้งใจ ในการยกเลิกการใช้ และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงถ่านหิน

การประชุมในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้บุคคลสำคัญเข้าร่วมอภิปราย อาทิ นาย Greg Hands ตำแหน่ง Minister of State for Business, Energy and Clean Growth แห่งสหราชอาณาจักร นาย Steven Guilbeault ตำแหน่ง Minister of Environment and Climate Change of Canada และนาย Fatih Birol ตำแหน่ง Executive Director of the International Energy Agency เพื่อแสดงความมุ่งมั่น และนำเสนอความสำเร็จในการดำเนินงานในการยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การยกเลิกการสนับสนุนทางการเงินต่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน และสนับสนุนทางเลือกอื่นที่ยั่งยืน

ต้องเร่งหา ‘เงิน-เทคโนโลยี’ เพื่อเลิกใช้ถ่านหินได้พร้อมกับชาติพัฒนาแล้ว

ในส่วนของไทยนั้น เลขาธิการ สผ. เห็นว่าการที่ประเทศไทย ได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน 2068 ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกลงมาให้อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส  ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งปรับเปลี่ยนสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของประเทศ

ถ่านหิน

นอกจากนี้ ไทยยังต้องพิจารณาความเหมาะสม และจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในอนาคต การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน เป็นธรรม และเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งประเทศไทยจะต้องมองหาความร่วมมือ และได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน และเทคโนโลยี จากกลไกภายใต้อนุสัญญาฯ และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างเร่งด่วน

สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบัน เช่น เยอรมนี 12% สหรัฐอเมริกา 22% และออสเตรเลีย 54% ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพียง 11%

ดร.พิรุณ ระบุว่า การที่ไทยจะยุติการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ในช่วงกรอบเวลาเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ดังนั้น ความร่วมมือ และการสนับสนุนทางด้านการเงิน และเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้ว จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ให้ประเทศไทย สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ ซึ่ง สผ. จะหารือเรื่องนี้กับประเทศต่าง ๆ ทั้ง สหราชอาณาจักร เยอรมนี และสหภาพยุโรป เพื่อแสวงหาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ถ่านหิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo