Environmental Sustainability

‘สผ.’ ประชุมคณะผู้แทนไทย ร่วมเวที ‘COP26’ ย้ำเป้าหมายการดำเนินงาน ‘โลกร้อน’

“สผ.” จัดประชุมคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุม COP26 ย้ำเป้าหมายการดำเนินงานโลกร้อนของไทย โดยเฉพาะ การปล่อยคาร์บอนสุทธิ-ก๊าซเรือนกระจก เป็นศูนย์ พร้อมหารือความก้าวหน้าประเด็นเจรจาที่ไทยให้ความสำคัญ 

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้แทนไทย ระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 โดยมี ดร.ณัฎฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) และผู้แทนไทยจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม

เลขาธิการ สผ. ได้เน้นย้ำเป้าหมายการดำเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม World Leaders Summit เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการมุ่งบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593  และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2608  ซึ่งหน่วยงานไทยต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน และหาโอกาสการสนับสนุน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย

122158

ผู้แทนไทยได้หารือต่อความก้าวหน้าของประเด็นเจรจา ที่ไทยให้ความสำคัญตั้งแต่มีการเปิดการประชุม COP26 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย อาทิ กรอบความร่วมมือภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีส เกี่ยวกับกฎ ระเบียบ แนวทางการดำเนินงานของกลไก ที่ใช้ตลาด และไม่ใช้ตลาด

ทั้งนี้ ยังมีหลายประเด็นที่ไม่สามารถได้ข้อสรุป เช่น การกำหนดค่าธรรมเนียมจากถ่ายโอนเครดิต ไปยังกองทุนด้านการปรับตัว (Share of proceed) การปรับบัญชี NDC ของประเทศในกรณีที่มีการถ่ายโอนเครดิตจากก๊าซอื่น ๆ ที่ใช่ และไม่ใช่ก๊าซเรือนกระจก

การยินยอม และแนวทางให้มีการถ่ายโอนเครดิต จากการดำเนินโครงการภายใต้พิธีสารเกียวโต มายังกลไกภายใต้ข้อ 6.4 (Sustainable Development Mechanism) ของความตกลงปารีส และการกำหนดโครงสร้างเชิงสถาบันของกลไกที่ไม่ใช่ตลาด

กรอบเวลาการดำเนินงานร่วมกันของเป้าหมาย การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ซึ่งยังมีทางเลือกที่หลากหลายเกือบ 10 ทางเลือก เช่น 5 ปี 10 ปี หรือแล้วแต่ละประเทศจะกำหนด และการกำหนดปี ที่จะเริ่มใช้กรอบเวลาร่วมกันดังกล่าว

122160

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดรูปแบบตารางการรายงานบัญชีก๊าซเรือนกระจก การติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของ NDC และการรายงานการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพที่ได้รับ ภายใต้กรอบความโปร่งใสของความตกลงปารีสว่า ควรมีความยืดหยุ่นให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไร ควรบังคับใช้กับทุกประเทศ หรือให้แต่ละประเทศสามารถพิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม

การกำหนดกรอบเวลาในการพัฒนาระบบสำหรับการรายงานว่า ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อรองรับการจัดส่งรายงานความโปร่งใสราย 2 ปี ฉบับแรกของภาคี ได้ทันตามกรอบเวลาไม่เกินปี 2567

การกำหนดเป้าหมายการสนับสนุนทางการเงินระยะยาว ที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการระดมทุนให้ได้ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ตามเป้าหมายทางการเงิน ที่ได้ตกลงร่วมกันไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายดังกล่าวในขณะนี้

ในการเจรจาประเด็นต่าง ๆ ประเทศไทยให้ความสำคัญ กับการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ที่สอดคล้องกับหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส มีความยืดหยุ่นต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยคำนึงถึงสถานการณ์ และขีดความสามารถของประเทศที่แตกต่างกัน

พร้อมกับผลักดันให้มีการสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก  การปรับตัวอย่างสมดุล และคาดหวังได้ อันจะนำมาสู่การขับเคลื่อนตามเป้าหมายของประเทศได้อย่างแท้จริง

328643

พร้อมกันนี้ เลขาธิการ สผ. ยังย้ำต่อที่ประชุมว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ขอให้ผู้แทนไทยเข้าร่วมการเจรจา โดยยึดถือกรอบท่าทีเจรจาของไทย สำหรับการประชุม COP26 ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานภายในประเทศ และแสดงถึงความรับผิดชอบของไทยต่อประชาคมโลกอย่างเป็นธรรม

นายวราวุธ ยังได้แสดงความห่วงใยต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้แทนไทย โดยเน้นย้ำให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัดด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo