Environmental Sustainability

ภาครัฐได้อะไรจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

“ประเทศไทย” ยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงหลัก ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ในแต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณมูลค่ามหาศาล จากการนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ทั้งเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับภาคขนส่ง และเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ

ยามเมื่อโลกเกิดวิกฤตด้านราคาพลังงาน ก็มักจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ลุกลามมาถึงเหล่าประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงรวมถึงประเทศไทย ด้วยเหตุนี้หลายประเทศทั่วโลกจึงทุ่มเทงบประมาณมหาศาล เพื่อค้นหาวิธีผลิตพลังงานรูปแบบใหม่ ที่สามารถทดแทนแหล่งพลังงานธรรมชาติ หรือ พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป

โรงไฟฟ้าชีวมวล

เทคโนโลยีพลังงานทดแทนจึงเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจ จากนักวิจัยด้านพลังงานทั่วโลก เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด ที่ไม่ปลดปล่อยมลพิษจำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ จึงเป็นแหล่งพลังงานที่เหมาะสม ต่อการลดก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

การผลิตพลังงานทดแทนยังใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างไม่จำกัด เช่น แสงแดด ลม และน้ำ เป็นต้น นอกจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวแล้ว พลังงานทดแทนที่ได้จากการแปรรูปชีวมวลไปเป็นพลังงานที่เรียกว่า พลังงานชีวมวล ในการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็มีศักยภาพสามารถที่จะนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลได้เช่นกัน

ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประชากรส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามลักษณะที่เหมาะสมของภูมิประเทศ ส่งผลให้เกิดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีศักยภาพ สามารถนำมาผลิตพลังงานชีวมวลเป็นจำนวนมาก

ในปี 2542 ถือเป็นการเริ่มต้นศักราชของการพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเนื่องจาก โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer: SPP) หรือ โรงไฟฟ้า SPP Renewable เรียกกันย่อ ๆ ว่า SPP Renew ที่มีกระบวนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือ เชื้อเพลิงชีวมวล สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นครั้งแรก จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว

กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล สามารถนำ กากอ้อย แกลบ ทะลายปาล์ม เศษไม้ และเศษวัสดุ ฯลฯ ที่เหลือทิ้งนำกลับมาใช้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคเกษตรกรรม และเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนที่ตั้งโรงไฟฟ้า

โรงไฟฟ้า SPP ชีวมวลส่วนใหญ่ ยังสามารถนำพลังงานไอน้ำและพลังงานไฟฟ้า ไปใช้ประโยชน์ได้ในเวลาเดียวกัน เช่น ในกรณีโรงน้ำตาล โรงงานเยื่อกระดาษ และโรงสีข้าว เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ และช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ ด้วยการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า

อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยอมรับ ในแนวทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน ด้วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนเป็นที่เชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนต่างชาติ

“ภาครัฐ” เล็งเห็นประโยชน์เหล่านี้จึงได้กำหนดให้มีสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจาก เชื้อเพลิงชีวมวลไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นตามมาโดยตลอด ควบคู่กับการส่งเสริมพลังงานทดแทนประเภทอื่นด้วย

เห็นได้ว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ภาครัฐยังคงเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30% ภายใน พ.ศ. 2580 โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 28,004 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้ จะเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 4,694 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าชีวมวล

นโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

ในส่วนนี้เป็นนโยบายรับซื้อไฟฟ้า ของโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 120 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2580 และกำหนดรับซื้อไฟฟ้าจาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือ โรงไฟฟ้าชุมชน รวม 600 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2567 ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน เบื้องต้น พ.ศ. 2564 เป็นโครงการนำร่องรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ปริมาณรวม 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์

ปัจจุบันข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 พบว่ามีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มี สัญญาซื้อขายไฟฟ้า(Power Purchase Agreement: PPA) ผูกพันกับภาครัฐแล้ว จำนวน 245 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 4,032 เมกะวัตต์ ในจำนวนดังกล่าวได้เดินเครื่อง จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (Commercial Operation Date: COD) แล้ว 215 ราย

คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด 3,584 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) แล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (Commercial Operation Date: COD) อีก 15 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 92.63 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีที่รับซื้อไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ลงนามสัญญา PPA อีก 15 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 355 เมกะวัตต์

หากเป็นไปตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ประเทศไทยจะมี กำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลรวม 4,964เมกะวัตต์ คิดเป็น 6.08% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

ดังนั้นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ที่ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบในทุก ๆ เมกะวัตต์ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยภาครัฐ ประหยัดเงินตรานำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ มาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ส่วนหนึ่ง และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในประเทศ ที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้ผลิต

จนถึงผู้ใช้พลังงานทดแทนอย่างทั่วถึง ตลอดจนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมในประเทศเกิดองค์ความรู้ และนำไปสู่การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานต่อไป

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ยังเป็นแนวทางการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาผลิตพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่องโดยไม่เกิดของเสีย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่นยืน

นับเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศไทยเริ่มก้าวสู่เส้นทางของการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตามกระแสโลกที่มุ่งส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด

ภาครัฐ และ ประเทศไทย ยังสามารถบรรลุเป้าหมายความร่วมมือในเวทีระดับนานาชาติ ได้ด้วยการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ที่เป็นพลังงานทดแทนประเภทหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดสภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลังจากประเทศไทยได้ตอบรับต่อทิศทางของโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้ว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิงตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) มีความใกล้เคียงกับ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 (PDP 2018) เดิม

โดยที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่เพิ่มมากขึ้นจากแผนเดิม (PDP 2018) ประมาณ 1% และสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลดน้อยลงจากแผนเดิม (PDP 2018) ประมาณ 1% ซึ่งส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการผลิตไฟฟ้าตามแผน PDP 2018 Revision 1 ในภาพรวมตลอดแผนตั้งแต่ พ.ศ. 2561–2580 มีค่าลดลงประมาณ 56 ล้านตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคิดเป็น 3% จากแผนเดิม

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ตามที่ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมย์ในลดก๊าซเรือนกระจกลง 20–25% ภายใน พ.ศ. 2573 ตามการประกาศความร่วมมือผ่านเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 21 หรือ COP 21 ที่บรรลุความตกลงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558

เมื่อพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใน พ.ศ. 2573 พบว่าการดำเนินการตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าแผน PDP 2018 เดิม หมายความว่าการดำเนินการตามแผน PDP 2018 Revision 1 จะทำให้ประเทศไทยสามารถลดการก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า แผน PDP 2018 เดิม

นอกจากการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน อันเนื่องจาก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และเร่งหามาตรการเพื่อควบคุม โดยมาตรการกีดกันทางการค้าก็เป็นมาตรการหนึ่ง ที่มีแนวโน้มจะนำมาใช้อย่างแพร่หลาย

ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่ถูกบังคับใช้ตามมาตรการดังกล่าวในปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมพลังทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการส่งออก ที่เป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญ ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ประโยชน์ของการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลต่อประเทศโดยรวมมีหลายด้าน ดังนี้

1. ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ เช่น การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าและความร้อนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอกประเทศได้ส่วนหนึ่ง

2. กระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านพลังงาน ที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้ใช้พลังงาน

3. ผลประโยชน์ทางด้านสังคม การพัฒนาพลังงานในพื้นที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับชุมชน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก

4. ผลประโยชน์ทางด้านการพัฒนาทางเทคโนโลยี การผลิตและการใช้พลังงานจะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมในประเทศเกิดองค์ความรู้และนำไปสู่การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน

5. ผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันจากภาวะโลกร้อน การนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร มาผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียน ต่อเนื่องโดยไม่เกิดของเสีย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนา ไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ประเทศได้รับประโยชน์โดยรวม จากการลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก และสร้างประโยชน์ในด้านการลงทุน การดูแลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความมั่นคงทางสังคมในระดับฐานราก ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight