Environmental Sustainability

เตรียมพร้อมชาวแม่แจ่ม รองรับโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง

“ไฟฟ้า” เป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ “รู้หรือไม่” ว่า ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย ยังคงมีครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และมีประชากรที่ยากจนกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบฐานรากและในระดับประเทศ

จากข้อมูลการสำรวจประชากรไทย ทั้งหมด 36.89 ล้านคน พบว่ายังมีประชากรที่ยากจนประมาณ 983,316 คน โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนของประชากรที่ยากจน 5 อันดับแรก ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยจังหวัดที่มีประชากรยากจนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นสัดส่วน 12.50% ตามข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เมื่อปี 2562

โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม

การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภาครัฐจึงจัดตั้ง โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือ เรียกย่อ ๆ ว่า โรงไฟฟ้าชุมชน ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการส่งเสริมให้ ชุมชน ผลิตไฟฟ้าใช้เองและยังมีส่วนร่วมเป็น เจ้าของโรงไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงไฟฟ้า และยังช่วยเพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนในระดับฐานราก

โรงไฟฟ้าชุมชน ถือเป็นมิติใหม่ของโรงไฟฟ้าที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน แต่การจะปลุกปั้นให้โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้จริงตามวัตถุประสงค์นั้น จำเป็นต้องจัดทำ โครงการนำร่อง และแน่นอนว่า ชุมชน คงไม่มีกำลังและเงินทุนมากพอที่จะดำเนินการได้เองทั้งหมด จำเป็นต้องอาศัยกำลังของผู้ประกอบการ หรือ นายทุน ที่มีศักยภาพเป็นผู้นำขับเคลื่อนโครงการ

กระทรวงพลังงาน เห็นความสำคัญของจัดทำโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน จึงมอบให้ 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการจัดหา และผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทาง กฟผ. และ กฟภ. จึงเฟ้นหาโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนใน 4 พื้นที่

โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม เป็น 1 ใน 4 โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง ที่ดำเนินการโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) จัดตั้งขึ้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานที่สำคัญอันดับ 1 ของจังหวัดเชียงใหม่ และมีครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้สูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ

โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม

ด้วยศักยภาพของอำเภอแม่แจ่ม เป็นพื้นที่ในการปลูกพืชพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ คือ 96,970 ไร่ หรือ คิดเป็น 52.95% ของพื้นที่ทั้งหมดในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 183,128 ไร่

จากจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยทั้งหมด 26.21 ล้านครัวเรือน ยังคงมีครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ราว 49,510 ครัวเรือน จังหวัดที่มีสัดส่วนของครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้สูงสุด 5 อันดับ คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นสัดส่วน 3.42% จังหวัดพังงา 2.31% จังหวัดภูเก็ต 0.95% จังหวัดเชียงใหม่ 0.88% และจังหวัดเพชรบุรี 0.56% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในประเทศไทย

จากจำนวนครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ราว 49,510 ครัวเรือน จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้สูงเป็นอันดับ 1 โดยมีทั้งหมด 7,092 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 14.32% ของจำนวนครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ทั้งหมดทั่วประเทศ

ประกอบกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้าไปร่วมดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) กับภาคีเครือข่ายในพื้นที่แม่แจ่มต่อเนื่องมาหลายปี จึงเล็งเห็นศักยภาพของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ที่ส่วนใหญ่ยึดอาชีพหลักทำไร่ข้าวโพด เกือบ 1 แสนไร่ ก่อให้เกิดวัสดุเหลือใช้จากซากข้าวโพดหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เช่น เปลือก ซัง และลำต้น คิดเป็นปริมาณประมาณ 9 หมื่นตัน ต่อปี โดยมี ต้น ตอ และใบบางส่วน ที่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในโรงไฟฟ้าได้ จึงถูกนำไปฝังกลบเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่

แต่การที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตรในลักษณะเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ปลูกข้าวโพดแต่เพียงอย่างเดียวนั้น การทำเช่นนี้จะไม่ยั่งยืน เพราะต้องพึ่งพาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารเคมี ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการเก็บเกี่ยว ด้วยวิธีการเผายังก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาด 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM 2.5 กระจายไปทั่วทุกจังหวัดในแถบภาคเหนือ

ทั้งนี้ กฟผ. ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ได้ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานไม้โตเร็ว เช่น กระถินณรงค์ กระถินยักษ์ และไผ่ ทำให้สามารถช่วยลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และเพื่อให้เกษตรกรได้มีทางเลือกในการเพาะปลูกมากขึ้น ซึ่งเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม

โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม ผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ

จุดริเริ่มโครงการนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งเป้าหมายหลักไปที่ ชุมชน โดยนำรายละเอียดของ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม เสนอให้ชุมชนพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ

โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วาดภาพให้ชุมชนเห็นว่า โครงการนี้เปรียบเสมือนเป็น โรงไฟฟ้าสร้างป่า เพราะมีการชักชวนให้คนแม่แจ่ม ได้เห็นประโยชน์ของการที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยนำพื้นที่บางส่วนจากการปลูกข้าวโพด หันมาปลูกป่าซึ่งเป็น ไม้โตเร็ว หรือ ต้นไผ่ ซึ่งจะสร้างรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวโพด และนำมาเป็นพืชพลังงานเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม

โดยนำพื้นที่ทำการเกษตรที่เคยใช้ปลูกข้าวโพด ให้กลายมาเป็นพื้นที่ป่าประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจึงลดการใช้สารเคมี สิ่งที่ได้มา คือ มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และยังมีพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงเพิ่มขึ้นด้วย

เนื่องจากจะมีการจัดตั้ง โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Plant: VSPP) หรือ โรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ผลิตไฟฟ้าในรูปแบบชีวมวลจากซังข้าวโพด ไม้ไผ่ และ พืชตระกูลอาเคเซีย (พืชโตเร็ว) เป็นเชื้อเพลิง โดยจะช่วยส่งเสริมให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยดี ภายใต้ความร่วมมือกับ วิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่

อีกทั้งยังเปิดกว้างให้ในพื้นที่ ที่มีคนที่ปลูกกาแฟก็สามารถปลูกกาแฟปะปนในพื้นที่ป่าได้ ซึ่งใน อำเภอแม่แจ่ม ยังมีร้านกาแฟที่ปัจจุบันต้องนำเข้าน้ำแข็งจาก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากในอำเภอแม่แจ่ม ไม่สามารถสร้างโรงน้ำแข็งได้ เพราะไฟฟ้าในพื้นที่ยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร

หากมีไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพในพื้นที่แล้ว ก็จะเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโรงน้ำแข็ง ทำให้น้ำแข็งที่นั่นมีราคาถูกลง เป็นการสนับสนุนธุรกิจกาแฟในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มไปในตัวด้วย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยึดหลักให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยการสื่อสารข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า ให้กับชาวบ้านได้รับทราบข้อมูลจากนโยบายโดยตรง

ทันทีที่กระทรวงพลังงาน ส่งสัญญาณจะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในขณะนั้น พร้อมด้วย กฟผ. จึงลงพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2562 ชี้แจงข้อมูลด้านนโยบายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งผลตอบรับเป็นไปด้วยดีชาวบ้านให้ความสนใจโครงการนี้

ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อำเภอแม่แจ่ม เป็นหนึ่งในกระบอกเสียงของชาวบ้านในพื้นที่ ให้ข้อมูลในขณะนั้นว่า อำเภอแม่แจ่ม มีประชากรอาศัยอยู่ 104 หมู่บ้าน แต่ยังมีครัวเรือนที่ไม่ไฟฟ้าใช้จำนวน 31 หมู่บ้าน และ 42 หย่อมบ้าน ทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตกดับบ่อยครั้ง และสร้างความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ จึงเห็นด้วยกับหลักการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ เพราะจะทำให้มีไฟฟ้าใช้ และยังได้ร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าด้วย

ในขณะที่ชาวบ้านยังมีข้อกังวลเรื่องของมลพิษจากการจัดตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งหากภาครัฐยืนยันว่า จะเป็นการเลือกใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง จะทำให้ชาวบ้านสบายใจมากขึ้น และพร้อมให้ความร่วมมือกับโครงการนี้

หลักการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังมุ่งเน้นเรื่อง Profit-Planet-People หลักการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ทุกคนต้องได้ประโยชน์ โดยจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของ หลัก 3P ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วย Profit มีผลกำไรแต่ไม่เน้นที่การทำกำไรสูงสุด (Maximize Profit) เพราะจะนำกำไรส่วนหนึ่งที่ลดลงมาดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งก็คือ Planet หมายความว่า โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยได้ออกแบบให้มีตัวกรองอากาศที่สามารถกรองมลพิษได้ถึง 99.9% ซึ่งตัวกรองที่ว่านี้ มีราคาที่ค่อนข้างสูง ส่งผลทำให้ต้นทุนของการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งหากคิดมุ่งเน้นการทำ Maximize Profit ก็จะไม่ติดตั้งตัวกรองอากาศที่ว่านี้เข้าไป

นอกจากนี้ ในส่วนของการระบายความร้อน ก็จะระบายโดยใช้อากาศ ไม่ใช้น้ำ จึงไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกไปสู่ชุมชน สุดท้ายคือ People คนแม่แจ่มจะได้รับประโยชน์จากการปลูกพืชพลังงาน แล้วนำมาขาย กฟผ. เป็นการสร้างรายได้ ลดการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง สุขภาพอนามัยของคนก็จะดีขึ้น มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

อีกทั้งยังมีโครงการที่จะให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่ ให้ได้ไปศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับปริญญาทางด้านไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อให้กลับมาทำงานในพื้นที่ เพราะผู้ที่จะดูแลรักษาโรงไฟฟ้าควรจะต้องเป็นคนในพื้นที่ ก่อให้เกิดการจ้างงานของคนในพื้นที่ มีพลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ

รวมถึงเกิดวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อให้ได้ต้นแบบของ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ของประเทศ ปัจจุบัน “โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม” อยู่ระหว่างดำเนินโครงการซึ่งจะสิ้นสุดปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566

โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ เดือนมิถุนายน 2563 โดยประเมินว่า โรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่นำร่อง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 18,966 บาท ต่อปี โดยมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อครัวเรือนที่ 21.5 ตัน/ปี จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 3,017 ครัวเรือน หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดใน อำเภอแม่แจ่ม ประมาณ 57.20 ล้านบาท ต่อปี

เมื่อ โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม ก่อสร้างแล้วเสร็จ หรือ เกิดขึ้นได้จริงตามที่ทุกฝ่ายคาดหวัง ก็เชื่อว่าจะกลายเป็นโมเดลต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน สามารถนำไปขยายผล เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนตอบโจทย์วัตถุประสงค์หลัก คือ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นอีกหนทางสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight