Environmental Sustainability

นำหลัก ‘โคก หนอง นา’ ปั้นโรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม

การมีกระแสไฟฟ้าใช้ ส่องสว่างไสวไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ นอกจากจะสร้างความสะดวก สบาย ต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ในยามค่ำคืนก็เกิดความปลอดภัย โดยเฉพาะเส้นทางการคมนาคม สัญจรไปยังพื้นที่ต่าง ๆ แต่จะดีไปกว่านั้น หากการก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังนำมาซึ่งความมั่นคงด้านรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้า

และยิ่งดีมากขึ้นเมื่อ ชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็น เจ้าของโรงไฟฟ้า ตามหลักการของนโยบายจัดตั้ง โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือ โรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่ง กฟผ. จึงได้นำหลัก โคก หนอง นา ปั้นโรงไฟฟ้าชุมชน

โคก หนอง นา
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ดำเนินธุรกิจหลักใน การผลิต จัดให้ได้มา และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้ใช้ไฟฟ้าตามกฎหมายกำหนด และประเทศใกล้เคียง พร้อมทั้งธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้าภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ กฟผ. โดยมีพันธกิจสำคัญเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยนวัตกรรมเพื่อความสุขของคนไทย

เมื่อ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงาน ให้จัดทำโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน 2 พื้นที่ คือ โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และโรงไฟฟ้าชุมชนทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นับเป็นภารกิจสำคัญที่ กฟผ. จะได้ใช้ประสบการณ์จากการผลิตไฟฟ้าที่มีมาเป็นระยะเวลา 52 ปี ดำเนินโครงการ CSR หรือ Corporate Social Responsibility คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อตอบแทนและช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและตอบโจทย์ความยั่งยืน

การสร้างโรงไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป้าหมายหลักไม่ได้มองแค่เพียงเรื่องของความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ดำเนินควบคู่กันเสมอมา

ดังนั้นการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก นับว่าตอบโจทย์การดำเนินงานของ กฟผ. เช่นกัน และยังถือเป็นอีกหนึ่งโครงการของ กฟผ. ที่ขานรับนโยบายพลังงานของภาครัฐ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการมีส่วนร่วมเป็น เจ้าของโรงไฟฟ้า ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้เข้มแข็ง

เพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าว กฟผ. ได้นำหลัก โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG Economy มาดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

โคก หนอง นา

โคก หนอง นา โมเดล เป็นการออกแบบการบริหารพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามศาสตร์พระราชา ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งพื้นที่เล็กหรือใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาข้อมูลและทรงพบว่า เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ครอบครองพื้นที่โดยเฉลี่ยครอบครัวละ 10-15 ไร่ จึงทรงแนะนำให้จัดสรร

โดยมีเป้าหมายว่า ต้องทำให้เรามีข้าวปลาอาหารพอกินตลอดปี เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและมีรายได้เหลือพอสำหรับจับจ่ายใช้สอยในเรื่องจำเป็น โดยใช้อัตราส่วน 30:30:30:10 เป็นเกณฑ์ปรับใช้

ตัวอย่างเช่น พื้นที่ส่วนแรก 30% ใช้สำหรับขุดสระน้ำ เพื่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำที่กินหรือใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ รอบ ๆ ขอบสระปลูกไม้ต้นที่ไม่ใช้น้ำมาก และสร้างเล้าไก่บนสระ

พื้นที่ส่วนที่สอง 30% ใช้สำหรับทำนา พื้นที่ส่วนที่สาม 30% ใช้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือไม้ล้มลุกที่ใช้สอยในครัวเรือน ใช้สร้างบ้านเรือน ทำอุปกรณ์การเกษตร หรือใช้เป็นฟืน พื้นที่ที่เหลืออีก 10% เป็นที่อยู่อาศัย ทางเดินคันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ย หมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ หรือ ปลูกผักสวนครัว สมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าว เป็นสูตรหรือหลักการโดยประมาณ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน และสภาพแวดล้อม เช่น ในภาคใต้ที่มีฝนตกชุก หรือพื้นที่ที่อยู่ใกล้เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ อาจลดขนาดบ่อหรือสระน้ำให้เล็กลง และปรับพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์อื่น เป็นต้น

นำหลัก โคก หนอง นา บูรณาการโรงไฟฟ้าชุมชน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้วางแนวทางการน้อมนำศาสตร์พระราชา ในเรื่อง โคก หนอง นา หรือ เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทางการเกษตร ที่คำนึงถึงภูมิศาสตร์และสภาพทางสังคมของพื้นที่ มาผสมผสานไปกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนได้บริหารจัดการด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ โดยศาสตร์พระราชาในเรื่อง โคก หนอง นา ที่จะนำไปใช้นั้น แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วน 30:30:30:10 คือ

พื้นที่ 30% แรก เป็นพื้นที่หนองน้ำจากการขุดสระเก็บกักน้ำฝน และใช้เสริมการปลูกพืช ในฤดูแล้ง ตลอดจนใช้เลี้ยงสัตว์ และพืชน้ำต่าง ๆ ด้วย

พื้นที่ 30% ในส่วนที่สอง เป็นพื้นที่นาปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงครัวเรือนให้เพียงพอตลอดทั้งปี จึงเป็นการพึ่งพาตนเอง และลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน

พื้นที่อีก 30% ส่วนที่สาม เป็นพื้นที่โคก ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก สมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่ายได้ และพื้นที่ส่วนสุดท้ายอีก 10% เป็นที่อยู่อาศัยของครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนอื่น ๆ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้

โคก หนอง นา

นำร่องใช้ 2 พื้นที่โรงไฟฟ้าต้นแบบ แม่แจ่ม และ ทับสะแก

โครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน ใน 2 พื้นที่ คือ โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากซังข้าวโพด ไม้ไผ่ และพืชตระกูลอาเคเซีย ซึ่งเป็นพืชโตเร็ว เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่วนอีกแห่งคือ โรงไฟฟ้าชุมชนทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้จากหญ้าเนเปียร์ และพืชพลังงานอื่น ๆ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนี้ มีกำลังการผลิตไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งจะสิ้นสุดปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566

โดยบริเวณพื้นที่ที่จะพัฒนา โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม เบื้องต้น เริ่มจากจะทำการชักชวนเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดอยู่แล้ว ให้หันมาเปลี่ยนพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อปลูกพืชโตเร็ว หรือต้นไผ่ ซึ่งจะสร้างรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวโพด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนบริเวณพื้นที่ที่จะพัฒนา โรงไฟฟ้าชุมชนทับสะแก จะส่งเสริมให้มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ชุมชนได้มีแหล่งอาหารเป็นของตัวเอง รวมทั้งส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อไว้ป้อนเป็นเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพจากการหมักหญ้าเนเปียร์ และยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน

นอกจากนี้ ชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ยังจะมีรายได้จากการร่วมลงทุนเป็น เจ้าของโรงไฟฟ้า อีกด้วย

ประสาน 4 ประโยชน์สร้างพลังร่วมชุนชน

การดำเนินโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนให้ประสบความสำเร็จ คือเป็นโรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คำนึงถึงผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน ที่ชุมชนเจ้าของพื้นที่จะต้อง ได้รับประโยชน์ 4 ด้าน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

ประกอบด้วย ด้านพลังงาน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ ที่จะช่วยรองรับและลดความเสียหายจากไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับในพื้นที่ ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการร่วมกันเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความเข้มแข็ง ในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน จากการจ้างแรงงานคนในพื้นที่ให้เข้ามาบริหารจัดการโรงไฟฟ้า เก็บเกี่ยวผลผลิต และขนส่งวัสดุเชื้อเพลิง ชุมชนยังสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน เช่น ห้องเย็นแช่ผลผลิต ทางการเกษตร เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 จากการเผาเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่โล่งแจ้ง ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น และยังเกิดผลทางอ้อมให้แรงงานกลับมาทำงานในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองอีกด้วย

โรงไฟฟ้าชุมชน ตอบโจทย์ BCG Economy

โรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม และโรงไฟฟ้าชุมชนทับสะแก ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมในรูปแบบ BCG Economy หรือ Bio–Circular-Green Economy ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกับสิ่งแวดล้อมของประเทศที่อุดมสมบูรณ์ควบคู่กันไป

โคก หนอง นา

แนวคิด การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบ BCG Economy ได้รวมการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ ไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่

เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่ได้นำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการเพิ่มคุณค่า หรือ ประยุกต์การใช้งาน และแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเกษตร

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่าที่สุด มีการนำกลับมาใช้ใหม่ มุ่งไปที่การลดปริมาณของเสียให้น้อยลง หรือเท่ากับศูนย์ พัฒนาไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดผลกระทบเชิงลบ เพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

“โคก หนอง นา โมเดล” ศาสตร์พระราชาที่นอกจากจะสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่พอเพียง และยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทยในทุกพื้นที่ ที่น้อมนำหลักการไปปรับใช้แล้ว ยังจะก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นหากจะนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับการขับเคลื่อนโครงการอื่น ๆ ตามนโยบายภาครัฐ ที่มีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งในระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เฉกเช่นโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม และโรงไฟฟ้าชุมชนทับสะแก ที่ถูกปั้นให้เป็นโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าที่ “ชุมชน” มีส่วนร่วมเป็น “เจ้าของโรงไฟฟ้า” อย่างแท้จริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight