ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทนจากพลังงานชีวมวล เนื่องจากพลังงานชีวมวลนั้นสอดคล้องกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวัตถุดิบ ซึ่งประเทศไทยมีเชื้อเพลิงชีวมวลจากเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ประเทศยังพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศในระดับสูง
การพัฒนาพลังงานทดแทนจากพลังงานชีวมวล จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในภาคเกษตรกรรม และพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างแท้จริง ตลอดจนภาครัฐยังมุ่งหวังให้การพัฒนาโครงการชีวมวล สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนโยบายของภาครัฐที่ชัดเจน มีการส่งเสริมและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง
ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรก ๆ ของเอเชีย ที่มีนโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ มาตรการแก้ไข หรือปรับปรุงระเบียบให้สอดคล้องกับพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการกำหนดระเบียบเฉพาะสำหรับพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐานสากลเรื่อยมา รวมถึงมาตรการสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
ลักษณะของมาตรการจูงใจจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม เอื้อต่อการพัฒนา และเป็นธรรมต่อประชาชนทุกภาคส่วน แนวทางและมาตรการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทย ด้านการส่งเสริมพลังงานชีวมวลของประเทศไทย ดังนี้
1. โครงการส่งเสริมการลงทุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
2. ข้อมูลงานวิจัย (R&D) และข้อมูลอื่น ๆ
3. เงินสนับสนุนแบบให้เปล่า
4. เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โครงการสินเชื่อพลังงาน
5. โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทน (ESCO Venture Capital Fund)
6. มาตรการส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Adder Cost) โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
7. กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)
นอกจากจะมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศแล้ว โรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่ ยังสามารถนำพลังงานไอน้ำ และพลังงานไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ได้ในเวลาเดียวกัน เช่น กรณีโรงน้ำตาล โรงงานเยื่อกระดาษ และโรงสีข้าว เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ ด้วยการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า
อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยอมรับ ในแนวทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนเป็นที่เชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนต่างชาติ
รัฐบาลเล็งเห็นประโยชน์เหล่านี้ จึงได้ยกระดับให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นกิจการที่มีระดับความสำคัญสูงสุด และจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนในระดับสูงสุดเช่นกัน จึงมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Maximum Incentive) จาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI)
ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมสนับสนุน (กองส่งเสริมการลงทุน) 3 ประเภท อุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อม โดยอยู่ในกลุ่มกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือ พลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ยกเว้นขยะ หรือ เชื้อเพลิงจากขยะ ซึ่งมีเงื่อนไขต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือ พลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ยกเว้นขยะ หรือ เชื้อ เพลิงจากขยะ โดยได้รับสิทธิและประโยชน์กลุ่ม A2
โดยถูกจัดลำดับได้รับสิทธิประโยชน์ ประเภท A2 ซึ่งกำหนดสิทธิประโยชน์ ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และหลังจากนั้นอีก 5 ปี หรือ ตั้งแต่ปีที่ 9-13 จะลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 50% มาตรการจูงใจด้านภาษี อาทิ การลดภาษีเครื่องจักรอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
รวมทั้งการอนุญาตให้นำต้นทุนในการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ขอหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 2 เท่าสำหรับโครงการใหม่ หรือมีเครื่องจักรใหม่ที่มีขบวนการผลิตที่ทันสมัย หรือมีระบบจัดการที่ปลอดภัย รักษาสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในการผลิต เป็นต้น
ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
สำหรับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้รับสิทธิเข้าลงทุนในโครงการตามนโยบายของภาครัฐ สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์การลงทุนจากบีโอไอได้ โดยจะต้องดำเนินการภายใต้ 8 ขั้นตอน ดังนี้
1. นักลงทุนที่สนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุน ศึกษารายละเอียดเบื้องต้นและขอรับแบบคำขอ ได้ 2 ช่องทาง คือ บีโอไอส่วนกลาง ภูมิภาค หรือ สำนักงานต่างประเทศ และ ผ่านเว็บไซต์ www.boi.go.th
2. ยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุน โดยผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ประกอบกิจการตามประเภทที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุน สามารถยื่นคำขอออนไลน์เท่านั้น ผ่านระบบ e-Investment Promotion ทาง www.boi.go.th
ยกเว้นการขอรับส่งเสริมเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การขอรับส่งเสริมเพื่อรับโอนกิจการ และการขอรับส่งเสริมการลงทุนมาตรการเศรษฐกิจฐานราก
3. ชี้แจงโครงการ โดยนัดหมายเจ้าหน้าที่บีโอไอผู้รับผิดชอบโครงการเพื่อชี้แจงโครงการ ภายใน 10 วันทำการ นับตั้งแต่วันยื่นคำขอ
4. วิเคราะห์โครงการ เจ้าหน้าที่บีโอไอดำเนินการวิเคราะห์โครงการ โดยใช้ระยะเวลาการพิจารณาตามขนาดการลงทุน ได้แก่
– โครงการลงทุนมูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาท จะพิจารณาภายใน 40 วัน นับตั้งแต่วันที่เอกสารครบถ้วน
– โครงการลงทุน มูลค่าไม่เกิน 2,000 ล้านบาท จะพิจารณาภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่เอกสารครบถ้วน
– โครงการลงทุน มูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท จะพิจารณาภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่เอกสารครบถ้วน
5. แจ้งผลการพิจารณา ทางบีโอไอจะดำเนินการแจ้งผลการพิจารณา ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่รับรองรายงานการประชุม
6. ตอบรับมติการส่งเสริมการลงทุน โดยผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตอบรับการส่งเสริม ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติ
โดยใช้ช่องทางตอบรับได้ 2 ช่องทาง คือ
1. กรอกแบบฟอร์มผ่านระบบ e-Investment Promotion ทาง www.boi.go.th
2. ยื่นแบบตอบรับมติการส่งเสริมการลงทุน (แบบฟอร์ม F GA CT 07) ที่กลุ่มบัตรส่งเสริม สำนักงานบีโอไอส่วนกลาง
7. ขอรับบัตรส่งเสริม โดยผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนยื่นขอรับบัตรส่งเสริมพร้อมหลักฐานประกอบการพิจารณา ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นแบบตอบรับมติให้การส่งเสริม
โดยสามารถยื่นผ่าน 2 ช่องทาง คือ
1. กรอกแบบฟอร์มผ่านระบบ e-Investment Promotion ทาง www.boi.go.th
2. ยื่นแบบตอบรับมติการส่งเสริมการลงทุน (แบบฟอร์ม F GA CT 07) พร้อมยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการออกบัตร
8. ออกบัตรส่งเสริม โดยทาง BOI ดำเนินการออกบัตรส่งเสริม ภายใน 10 วันทำการ นับจากวันที่สำนักงานได้รับแบบฟอร์มขอรับบัตรส่งเสริมและหลักฐานครบถ้วน
นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เริ่มต้นส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เมื่อประมาณปี 2538-2539 เป็นต้นมา ภาครัฐมองว่าการลงทุนโรงไฟฟ้า ถือเป็นการลงทุนทางด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ จึงให้การสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมาโดยตลอด ถือเป็นมาตรการที่มีส่วนสำคัญ ในการผลักดันให้การโครงไฟฟ้าชีวมวล ในช่วงเริ่มต้นเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะโรงไฟฟ้าชีวมวลแต่ละแห่ง ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง ตั้งแต่หลักสิบล้านบาทไปจนถึงหลักร้อยล้านบาทต่อเมกะวัตต์
ดังนั้นการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและการนำเข้าเครื่องจักร จะช่วยให้ผู้ประกอบการคืนทุนได้เร็วขึ้น เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง จะมีอายุการเดินเครื่องการผลิตนานประมาณ 20-25 ปี
กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต เพราะตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย พ.ศ. 2564-2569 ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG)
รวมไปถึงการกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) จึงมีโอกาสอย่างมากที่ภาครัฐจะปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการสนับสนุนโรงไฟฟ้าชีวมวล ในระยะต่อไปยังจำเป็นต้องอาศัยกลไกสนับสนุนที่สำคัญจากภาครัฐ โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพราะโรงไฟฟ้าชีวมวล ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง เกิดการสร้างงาน ลดการย้ายถิ่นฐาน และทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงด้านไฟฟ้า
อ่านข่าวเพิ่มเติม:
- วิธีประมูลแข่งขัน กติกาใหม่การรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล
- โอกาส ‘ภาครัฐ’ ปั้นโรงไฟฟ้าชุมชน ‘เฟส 2’
- ประเทศไทยได้อะไรจากโรงไฟฟ้าชุมชน