Environmental Sustainability

วิธีประมูลแข่งขัน กติกาใหม่การรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล

ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงรองรับการคมนาคมและขนส่งสินค้าต่าง ๆ รวมถึงนำมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

หลายครั้งในอดีตเมื่อโลกเกิดวิกฤตด้านราคาพลังงาน ทำให้ประเทศไทยต้องแบกรับความเสี่ยงจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงนำเข้าที่ผันผวน กลายเป็นภาระด้านงบประมาณที่สำคัญของภาครัฐ จึงต้องมีการศึกษาวิธีประมูลแข่งขัน สร้างกติกาใหม่การรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล

การรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล

การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่รัฐบาลเลือกใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีความเข้มแข็งทางรายได้

ด้วยการส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล นำไปผสมกับน้ำมันเบนซินและดีเซล ใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ส่วนภาคไฟฟ้า ได้ส่งเสริมการนำพืชพลังงานมาผลิตไฟฟ้าทั้งเชื้อเพลิงชีวมวล และเชื้อเพลิงชีวภาพ

ที่มาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

ประเทศไทยเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้าภายใต้ โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer: SPP) มาตั้งแต่ปี 2535 โดยมีเป้าหมายสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้า ทั้งจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producer: SPP) โดยใช้ ระบบการผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน (Cogeneration) หรือเรียกว่า SPP Cogeneration ทั้งที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน

เริ่มจากปี 2535 มีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ จำกัดปริมาณการซื้อไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ต่อราย ในปีต่อมาจึงเพิ่มเป็นไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ต่อราย และในปี 2539 ได้ขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าเป็น 3,200 เมกะวัตต์ ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทน พร้อมเริ่มรับคำร้องการขายไฟฟ้าจาก โรงไฟฟ้ารายเล็ก SPP จากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบสัญญาขายไฟฟ้าแบบเสถียร (Firm Contract) ในเดือนพฤศจิกายน 2539 โดยกำหนดปริมาณ และระยะเวลารับซื้อให้มีอายุสัญญา 20-25 ปี

การรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล

กระทั่งปี 2542 นับเป็นการเริ่มต้นศักราชของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนแบบใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย เนื่องจากโรงไฟฟ้าแบบ SPP พลังงานหมุนเวียน ที่มีกระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือ ชีวมวล และขายไฟฟ้าเข้าระบบของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นครั้งแรก จนถึงปัจจุบันนับเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว

กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล สามารถนำ กากอ้อย แกลบ ทะลายปาล์มเปล่า เศษไม้ หรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาใช้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคเกษตรกรรม และเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนที่ตั้งโรงไฟฟ้า

แม้ว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศในหลายด้าน แต่ผลพวงจากนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังก่อให้เกิดภาระส่งผ่านไปยังต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) ในปัจจุบัน จากนโยบายที่ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าในราคาจูงใจ สนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จากเชื้อเพลิงต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการกำหนดส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และการใช้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in-Tariff: FiT)

ภาระพลังงานหมุนเวียนส่งผ่านค่าไฟ

จากข้อมูลการประเมินผลกระทบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตลอดปี 2563 ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่าในปี 2563 ภาระการอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คิดเป็นวงเงินรวม 53,168 ล้านบาท โดยคิดเป็นภาระที่ประชาชนต้องร่วมจ่าย ที่บวกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าประมาณ 31.22 สตางค์ ต่อหน่วย แบ่งเป็น

งวดเดือน มกราคม-เมษายน 2563 ใช้เงินอุดหนุน 17,546 ล้านบาท กระทบค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) 30.41 สตางค์ ต่อหน่วย

งวดเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2563 ใช้เงินอุดหนุนอยู่ที่ 17,380 ล้านบาท กระทบค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) 29.44 สตางค์ ต่อหน่วย

คาดการณ์ว่า งวดเดือน กันยายน-ธันวาคม 2563 จะใช้เงินอุดหนุนมากขึ้นเป็น 18,242 ล้านบาท กระทบค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) 34.06 สตางค์ ต่อหน่วย

นอกจากนี้ยังประเมินผลกระทบ งวดเดือน มกราคม-เมษายน 2564 จะยังคงใช้เงินอุดหนุนระดับ 18,269 ล้านบาท กระทบค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) ประมาณ 33.57 สตางค์ ต่อหน่วย

อีกทั้งยังประเมินว่าในปี 2564 จะมีโครงการผลิตไฟฟ้าหลายโครงการ ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) ไปแล้ว ทยอยผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (Commercial Operation Date: COD) เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 ทำให้คาดว่าทั้งปี 2564 ผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบดังกล่าว จะยังคงทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30 สตางค์ ต่อหน่วย

การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีหน้าที่บริหารจัดการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ทุกๆ 4 เดือนอยู่แล้ว เพื่อลดภาระ และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย

ประกาศปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in-Tariff: FiT) ในส่วนผันแปร (FiTv) สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประจำปี 2564 ตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ให้ปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รูปแบบ FiT ประเภทเชื้อเพลิงต่าง ๆ สำหรับโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2560 และภายหลังปี 2560 อัตรา FiT จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน

การรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล

ดังนั้น กกพ. จึงได้ปรับอัตรา FiT จากพลังงานหมุนเวียนประจำปี 2564 ที่เป็นประเภทชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ โดยแบ่งเป็น 8 ประเภท ดังนี้

1. อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบการให้เงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า (Adder) เป็นการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) ของ พ.ศ. 2558 แบ่งเป็น

ประเภทชีวมวล ได้แก่ กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ได้รับอัตรา FiT อยู่ที่ 2.2563 บาท ต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.2498 บาท ต่อหน่วย ส่วนที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ ได้รับอัตรา FiT อยู่ที่ 1.8888 บาท ต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 1.8833 บาทต่อหน่วย

ประเภทก๊าซชีวภาพ (จากพืชพลังงาน) ได้รับอัตรา FiT ที่ 2.6034 บาท ต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.5959 บาท ต่อหน่วย และประเภทเชื้อเพลิงขยะ (การจัดการขยะแบบผสมผสาน) สำหรับกำลังผลิตไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ได้รับอัตรา FiT ที่ 3.2773 บาท ต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 3.2678 บาท ต่อหน่วย ส่วนที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ ได้รับอัตรา FiT ที่ 2.7464 บาท ต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.7384 บาท ต่อหน่วย

2. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ FiT พ.ศ. 2559 (ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ใน จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี) ประเภทชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ได้รับอัตรา FiT ที่ 2.2563 บาท ต่อหน่วย และที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ ได้รับอัตรา FiT ที่ 1.8888 บาท ต่อหน่วย

3. อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (โครงการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล) ในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก Adder เป็น FiT พ.ศ. 2559 ประเภทชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ได้รับอัตรา FiT ที่ 2.2563 บาท ต่อหน่วย และที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ ได้รับอัตรา FiT ที่ 1.8888 บาท ต่อหน่วย

4. อัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พ.ศ. 2558-2562 แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ต่อยอดจากเตาเผาขยะอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 รวมถึงโรงไฟฟ้าใหม่ และโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีพลาสม่า จะได้รับอัตรา FiT ที่ 2.7464 บาท ต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.7384 บาท ต่อหน่วย

5. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ FiT พ.ศ. 2559 ประเภทขยะ (การจัดการขยะแบบผสมผสาน) ที่มีกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ จะได้รับอัตรา FiT ที่ 3.2773 บาท ต่อหน่วย และที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ จะได้รับอัตรา FiT ที่ 2.7464 บาท ต่อหน่วย

6. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 จะได้รับอัตรา FiT อยู่ที่ 1.8888 บาท ต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 1.8833 บาท ต่อหน่วย

7. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล พ.ศ. 2561 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ จะได้รับอัตรา FiT ที่ 2.2563 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.2498 บาท ต่อหน่วย และที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ จะได้รับอัตรา FiT ที่ 1.8888 บาทต่ อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 1.8833 บาท ต่อหน่วย

8. อัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลรายเล็ก พ.ศ. 2563 ประเภทชีวมวล ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และที่มากกว่า 10 เมกะวัตต์ จะได้รับอัตรา FiT ที่ 1.8888 บาท ต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 1.8833 บาท ต่อหน่วย

วางกติการับซื้อพลังงานหมุนเวียนรูปแบบใหม่ กับกติกาใหม่การรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล

ทั้งนี้ในปี 2564 กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการจัดทำ แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2565 โดยจะกำหนดเป้าหมายใน การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในอนาคต และเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า Ft ในระยะยาว

กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำเนินการศึกษาอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมใหม่ รวมถึงกำหนดรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้สอดรับกับสถานการณ์การผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น Disruptive Technology การส่งเสริมพลังงานสะอาด เทคโนโลยีแบตเตอรี่เก็บกักพลังงาน เป็นต้น

การรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล

มีแนวโน้มที่ภาครัฐจะหันมาเลือกใช้รูปแบบ การประมูลแข่งขัน (Competitive Bidding) มากขึ้น เห็นได้จากการประกาศโครงการรับซื้อไฟฟ้าในยุคหลัง ๆ มักจะใช้รูปแบบการเปิดประมูลแข่งขัน เพื่อให้ได้โครงการผลิตไฟฟ้า ที่เสนออัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด และไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้ารวม เช่น “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560” ที่มีราคาเสนอขายไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วย ถือเป็นอัตราที่ต่ำมาก และ “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ. 2564” ที่อยู่ในกระบวนการเปิดประมูลในปี 2564 ก็ใช้รูปแบบการเปิดประมูลแข่งขันเช่นกัน นับเป็นกติกาใหม่การรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล

โรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย ถือเป็นโครงการที่ยังสามารถเดินหน้าพัฒนาให้เติบโตต่อเนื่องได้ในอนาคต แต่กติกาใหม่การรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล นับเป็นสิ่งสำคัญผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า คงต้องปรับตัวกันชุดใหญ่ เช่น การหันไปพัฒนาเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมและการยอมรับจากชุมชน เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับโรงไฟฟ้า น่าจะตอบโจทย์การพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ยั่งยืน มากกว่าการคาดหวังแรงจูงใจจากอัตรารับซื้อไฟฟ้าเหมือนเช่นในอดีต

หากรูปแบบการประมูลแข่งขันประสบความสำเร็จ ก็เชื่อได้ว่ากระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่สะท้อนต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าคงจะไม่เป็นเหตุปัจจัยให้หยิบยกขึ้นมาเป็นจุดอ่อนสกัดการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight