Environmental Sustainability

โอกาส ‘ภาครัฐ’ ปั้นโรงไฟฟ้าชุมชน ‘เฟส 2’

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ภายใต้นโยบาย “Energy for All พลังงานเพื่อทุกคน” ที่กำหนดทิศทางการใช้ภาคพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคเอกชนและภาคชุมชน ที่ต้องการมีส่วนร่วมลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน (โครงการนำร่อง) รับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ ที่ให้ผู้สนใจยื่นคำขอเสนอโครงการ ระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2564 เพื่อหวังเข้าร่วมการประมูลแข่งขัน พบว่า มีผู้ยื่นคำขอเสนอขายไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 246 ราย แบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้ เชื้อเพลิงชีวมวล จำนวน 143 ราย และเชื้อเพลิงชีวภาพ (พืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 103 ราย ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าที่กำหนดไว้อย่างมาก

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นที่หมายปองทั้งภาคเอกชน และภาคชุมชน

กระแสตอบรับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า โรงไฟฟ้าชุมชน เป็นที่หมายปองทั้งภาคเอกชน และภาคชุมชนอย่างมาก ทำให้ผู้ที่คาดหวังจะมีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้าในโครงการนี้ ต่างเรียกร้องให้ภาครัฐ พิจารณาเปิดรับซื้อไฟฟ้า ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพิ่มเติม หรือ จัดทำโครงการระยะต่อไป หรือ เฟสที่ 2

เพราะนอกจากจะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงในระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าด้วยการถือหุ้นบุริมสิทธิในสัดส่วน 10% และยังจะมีรายได้จากการขายพืชพลังงาน ป้อนโรงไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ก่อให้เกิดการจ้างงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริง

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

อีกทั้งตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ยังบรรจุนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยกำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน มีกำลังการผลิตรวมที่ 1,933 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2567

หากจะพิจารณาเหตุและผลความเป็นไปได้ ที่ภาครัฐจะเดินหน้าสานต่อโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นโครงการเฟสที่ 2 ก็มีหลายปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการส่งเสริมโครงการนี้ต่อ ทั้งการจัดทำ แผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ของกระทรวงพลังงาน

ที่มีกำหนดเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2564 กำลังจะทำให้ภาพของการผลิต และการใช้พลังงานของประเทศในอนาคต จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ที่เดิมจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานในประเทศเป็นหลัก แต่ในอนาคตการใช้พลังงานของไทย จะสอดคล้องกับทิศทางการใช้พลังงานของทั่วโลก

หลังชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ได้ประกาศเป้าหมายกำหนดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือ ก๊าซเรือนกระจก ที่เข้มข้น เพื่อก้าวสู่การปล่อยสุทธิที่มีปริมาณเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เช่น จีน ประกาศลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นศูนย์ ใน ค.ศ. 2060

ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และในสหภาพยุโรป ประกาศลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ปริมาณสุทธิเป็นศูนย์ใน ค.ศ. 2050 เป็นต้น ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน มีการกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 35% ของการใช้พลังงานใน พ.ศ. 2573

ปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อน การใช้พลังงานของหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ที่จะต้องหันไปมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ควบคู่ส่งเสริมเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน หนุนศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

ประกอบกับ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (COP 25) ล่าสุดที่ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 2-13 ธันวาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศคงเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือ ก๊าซเรือนกระจก สำหรับประเทศไทยไว้ที่ 20-25% ภายใน พ.ศ. 2573 ตามข้อตกลงปารีส (COP21) ถือเป็นหน้าที่ ที่ประเทศไทยจะต้องให้ความร่วมมือ และกำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

“แผนพลังงานแห่งชาติ” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศ เพื่อร่วมผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุต่อเป้าหมาย COP 21 ซึ่งภายใต้แผนนี้ กระทรวงพลังงาน จะให้น้ำหนักกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น

ในเบื้องต้นเตรียมปรับแผนเพิ่มสัดส่วน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้น จากเดิม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) กำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า จากก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 53% พลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 21% ถ่านหินและลิกไนต์ อยู่ที่ 11% พลังน้ำต่างประเทศ อยู่ที่ 9% และจากการอนุรักษ์พลังงาน อยู่ที่ 6%

ขณะที่ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (Alternative Energy Development Plan) หรือ AEDP 2018 กำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30% ภายใน พ.ศ. 2580 และคงเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไว้ที่ 18,696 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2580

หมายความว่า บทบาทของพลังงานหมุนเวียน สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต จะมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น แต่จะมุ่งเน้นไปที่เชื้อเพลิงประเภทใดนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอผลการศึกษา หรือการประเมินศักยภาพจากกระทรวงพลังงานในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตามแผน PDP 2018 Revision 1 กำหนดเป้าหมายของโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าระบบตั้งแต่ พ.ศ. 2563-2567 แต่หลังจากนั้นจนสิ้นสุดแผนไม่ได้กำหนดเป้าหมายโรงไฟฟ้าชุมชนเพิ่มเติม

ตามเป้าหมายของโรงไฟฟ้าชุมชน มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมที่ 1,933 เมกะวัตต์ โดยแบ่งตามประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจาก เชื้อเพลิงชีวมวล 600 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและของเสีย 183 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 600 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid 550 เมกะวัตต์ โดยในแต่ละประเภท จะจ่ายไปเข้าระบบด้วยกำลังการผลิตต่างกันในแต่ละปี

เมื่อจำแนกตามภูมิภาค จะอยู่ในภาคตะวันตกมากที่สุด 513 เมกะวัตต์ รองลงมา ภาคกลางตอนบน 445 เมกะวัตต์ ภาคใต้ 274 เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 232 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 225 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 216 เมกะวัตต์ และเขตพระนคร 17 เมกะวัตต์

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าชุมชน เป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ถือเป็นพลังงานสะอาด ดังนั้น การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ก็อาจมีความเป็นไปได้ ที่จะปรับเพิ่มเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ในอนาคตก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน

หากพิจารณาจากเป้าหมายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ตามแผน PDP 2018 Revision 1 ได้เปิดช่องรับซื้อไฟฟ้ารวม อยู่ที่ 1,933 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2567 ซึ่งปัจจุบัน พ.ศ. 2564 (โครงการนำร่อง) เพิ่งจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพียง 150 เมกะวัตต์ เท่านั้น จึงยังเหลือกำลังการผลิตไฟฟ้าที่สามารถนำมาเปิดรับซื้อเพิ่มเติมได้อีกถึง 1,783 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะเปิดรับซื้อไฟฟ้า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพิ่มเติม หรือ เฟสที่ 2 หรือไม่นั้น ยังจะต้องรอติดตามและประเมินผลจากโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์ แรกก่อน ดังนั้นคงต้องฝากความหวังไว้กับ “ผู้ที่ชนะการประมูล” หรือผู้ที่ได้สิทธิดำเนินโครงการใน 150 เมกะวัตต์ แรก

หากโครงการนี้วัดผลสำเร็จออกมา ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการตามที่รัฐบาลวาดฝันไว้ ก็มีโอกาสที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เฟสที่ 2 จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นนอน ในทางกลับกันหากผู้ได้รับสิทธิดำเนินโครงการ “หละหลวม” หรือ “ไม่รับผิดชอบ” ต่อชุมชน จนทำให้เกิดกระแสลบต่อโครงการ ก็จะเป็นการดับฝันโครงการในระยะต่อไปได้เช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight