Environmental Sustainability

โรงไฟฟ้าสิรินธร ต้นแบบชีวมวลนำความร่วมมือชุมชนกับผู้ประกอบการ

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนล่าง ตั้งอยู่สุดชายแดนตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาค และเป็นอันดับ 3 ของประเทศ

จากข้อมูลล่าสุดของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี พบมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 10.07 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร 5.84 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 4.27 ล้านไร่ ยางพารา 0.52 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 0.43 ล้านไร่ ปาล์ม 0.01 ล้านไร่ อ้อย 0.01 ล้านไร่ และพื้นที่ทางการเกษตรอื่น ๆ 0.60 ล้านไร่ และมีจำนวนครัวเรือนเกษตรกร 299,099 ครัวเรือน จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 480,530 ครัวเรือน

โรงไฟฟ้าชีวมวลสิรินธร

จากพื้นที่ทางการเกษตรที่นับเป็นพื้นที่หลักของจังหวัด ทำให้มีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ทั้งฟางข้าว แกลบ เหง้ามันสำปะหลัง ปีกไม้ กิ่ง ตอ และขี้เลื่อยไม้ยางพารา ทะลายปาล์ม และชานอ้อย ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้น ในจังหวัดอุบลราชธานีถึง 3 แห่ง

โรงไฟฟ้าชีวมวลสิรินธร เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบของภาคอีสาน ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยเทคโนโลยีระบบกังหันไอน้ำ ในการขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท อัลไลแอนซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด กลุ่ม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ตั้งอยู่ที่ตำบลฝางคำ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บนพื้นที่ 114 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา เป็นโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก หรือ VSPP มีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์

ในจำนวนนี้เป็นการใช้ไฟฟ้าที่ใช้ภายในโครงการจำนวน 0.82 เมกะวัตต์ ส่งจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 8 เมกะวัตต์ ที่เหลืออีก 1.08 เมกะวัตต์ เป็นไฟฟ้าส่วนเกิน โดยได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 โดยจะสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) วันที่ 13 ธันวาคม 2575

โรงไฟฟ้าชีวมวลสิรินธร

โรงไฟฟ้าชีวมวลสิรินธร ต้นแบบชีวมวลนำความร่วมมือชุมชนกับผู้ประกอบการ

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 อย่างมั่นคงด้วย สูตรสำเร็จของโรงไฟฟ้า คือ การเลือกใช้เทคโนโลยีระบบกังหันไอน้ำในการขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมัน ทำการออกแบบเครื่องจักรในโรงงาน โดยวิศวกรชาวเยอรมันที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการออกแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลประสิทธิภาพสูง และใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นนำประเภท Multi Fuel Type แบบ High Moisture Content สามารถรองรับเชื้อเพลิงแบบผสมผสานได้หลากหลาย

รวมถึงสามารถใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่น ๆ สามารถเผาเชื้อเพลิงที่มีค่าความชื้นสูงถึง 60-65% ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานของเครื่องจักร (Capacity Factor) สูงถึง 95% ทำให้ควบคุมต้นทุนเชื้อเพลิงได้ในระดับสูง รวมทั้งสามารถเดินเครื่องจักรเต็มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องทุกวัน 365 วันต่อปี ทำให้จ่ายไฟฟ้าได้สม่ำเสมอ

นอกจากนี้ได้นำเทคโนโลยี IoT Big Data และ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการคำนวณสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อให้มีประสิทธิภาพการเผาไหม้สูงสุดในต้นทุนที่ต่ำสุด รวมทั้งการวางแผนการสต็อกเชื้อเพลิงชีวมวล ที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสมตามฤดูกาล เพื่อให้มีเชื้อเพลิงใช้ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี และยังช่วยในการปรับปรุงกระบวนการผลิต และซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีทีมดำเนินงาน และบำรุงรักษาที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูง

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังให้ความสำคัญกับ มาตรการรองรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งแหล่งมลพิษทางอากาศที่สำคัญในกระบวนการผลิต คือ ห้องเผาไหม้ของหม้อไอน้ำ โดยสารมลพิษหลักที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ ได้แก่ ฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน เป็นต้น

โรงไฟฟ้าได้ถูกออกแบบและติดตั้ง เครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator: ESP) ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน สามารถดักจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอนได้มากถึง 99.5% เพื่อดักจับเถ้าเบา (Fly Ash) ส่วนเถ้าหนัก (Bottom Ash) จะถูกลำเลียงออกสู่ระบบลำเลียงเถ้า จึงช่วยป้องกันการเกิดฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ได้ และระบบบำบัดก๊าซไอเสียเพื่อควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นก่อนระบายออกปล่อง

โรงไฟฟ้าชีวมวลสิรินธร

นอกจากนี้ยังได้ทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งค่าที่วัดได้ จะถูกนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานตามเกณฑ์ต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแล รวมทั้งยังได้ควบคุมสภาวะภายในห้องเผาไหม้โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดที่เหมาะสม เพื่อปรับอัตราการป้อนเชื้อเพลิง และปริมาณอากาศให้เกิดกระบวนการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ มีการติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง ด้วยระบบตรวจสอบมลพิษออนไลน์ (Online Pollution Monitoring Systems: OPMS) เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนระบายออกนอกโรงงาน ยังเชื่อมต่อกับระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษอีกด้วย

การลดมลพิษทางน้ำ น้ำเสียจากส่วนต่าง ๆ เช่น น้ำทิ้งจากหม้อไอน้ำ น้ำทิ้งจากหอหล่อเย็น น้ำที่มีตะกอนจากระบบผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุ และน้ำเสียจากสำนักงานจะไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำเสีย และนำไปบำบัดด้วยระบบบำบัดน้ำเสียที่มีมาตรฐานสูง เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้ตามมาตรฐาน ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่โครงการ เช่น ใช้รดพื้นที่สีเขียวของโครงการ เป็นต้น โดยไม่มีการระบายน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ หรือ Zero Discharge

เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ของหม้อไอน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เถ้าหนัก และเถ้าลอย จะส่งเถ้าไปวิเคราะห์องค์ประกอบ เพื่อแบ่งประเภทของเสีย เพื่อให้การจัดการเถ้าที่เกิดขึ้น เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หากผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของเถ้าดีกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด จะรวบรวมเพื่อนำไปเป็นสารปรับปรุงดิน หรือวัสดุทดแทนดิน หรือนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์ และวัสดุทดแทนอื่น

แต่หากผลวิเคราะห์เถ้ามีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด จะนำส่งให้หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมรับไปกำจัด

โรงไฟฟ้าชีวมวลสิรินธร ยังได้ดำเนินงานบนหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยร่วมมือกับเกษตรกร ชุมชน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ของกระบวนการที่ตอบโจทย์ในเรื่องการสร้างรายได้แก่ชุมชน เริ่มตั้งแต่การเข้าไปให้องค์ความรู้เกี่ยวกับ วิธีปลูกพืชพลังงานที่มีประสิทธิภาพแก่เกษตรกรที่สนใจ สนับสนุนต้นกล้าทั้งในรูปแบบให้ฟรี และจำหน่าย เช่น ยูคาลิปตัส กระถินยักษ์ หรือ พืชพลังงานอย่าง หญ้าเนเปียร์

โรงไฟฟ้าชีวมวลสิรินธร

ต้นกล้าเหล่านี้เกิดจากการวิจัยพัฒนาของบริษัท ร่วมกับพันธมิตร และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้ได้พันธุ์พืชที่ให้ค่าความร้อน หรือ พลังงานสูง โดยชาวบ้านจะนำพืชพลังงานที่ปลูกมาขายให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งเปิดให้ชาวบ้านสามารถนำเข้ามาขายได้ทุกวันไม่จำกัดจำนวน และยังมีการประกาศราคาให้เกษตรกรทราบทุกสัปดาห์ บนราคาที่ยุติธรรมและเหมาะสม ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าได้อย่างแท้จริง

โรงไฟฟ้าชีวมวลสิรินธร ยังใช้ระบบการสื่อสารสมัยใหม่ ผ่านเว็บไซต์และไลน์กลุ่ม เพื่อแจ้งข่าวการสนับสนุนเรื่องที่น่าสนใจ และแจ้งราคารับซื้อวัสดุทางการเกษตรประเภทต่าง ๆ ทุกเดือน

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลสิรินธร ยังมีส่วนสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ของชาวบ้านในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ผ่านการจัดกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ทั้งด้านการศึกษา ทักษะทางด้านกีฬา และคุณธรรมจริยธรรม เช่น การมอบทุนการศึกษา และร่วมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ต่อเนื่อง ตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วม ในการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน ผ่านกิจกรรมโครงการต่างๆ เช่น โครงการปลูกต้นไม้บนคันนา โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นต้น

รวมทั้งการร่วมรณรงค์จัดทำกิจกรรมด้านสุขอนามัย การคัดแยกขยะในชุมชนและโรงเรียน การส่งเสริมให้คนในชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า นำอิฐบล็อกตัวหนอนที่ผลิตจากขี้เถ้าไปใช้ประโยชน์สาธารณะ สิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงเป็นการยกระดับรายได้ และความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้นแล้ว แต่ยังเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ากับชุมชนที่เติบโตไปร่วมกันอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight