Environmental Sustainability

บริหาร “สำรองไฟฟ้า” สร้างสมดุลการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ ตามมาตรฐานเดิมถูกกำหนดไว้ในระดับ 15% ของกำลังผลิตไฟฟ้า ภายใต้การจัดหาไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) นอกจากจะเป็นตัวการันตีว่าประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอแล้ว ในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือ ภาวะวิกฤตต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้า ก็ยังอุ่นใจได้ว่า จะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับ

แต่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาอีกด้าน จากการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวตามการพัฒนาเศรษฐกิจ จากปี 2563 ที่ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ

การหดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลงอย่างมาก และผลที่ตามมาคือกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่มสูงขึ้น

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่อยู่ในระดับสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน กลายเป็นประเด็นข้อกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศ เพราะการมีไฟฟ้าสำรองในปริมาณที่สูงเกินไป จะถูกคำนวนต้นทุนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเข้าไปไว้ในต้นทุนผลิตไฟฟ้า และจะสะท้อนผ่านค่าไฟฟ้าในอนาคตด้วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

จากข้อมูล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้ให้เห็นว่า “ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด” ในปี 2563 ลดลงอย่างมาก จากในช่วงต้นปีในเดือนมกราคม 2563 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 27,422.60 เมกะวัตต์

แต่หลังจากผลกระทบจากโควิด-19 เริ่มมีผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ในเดือนต่อ ๆ มา ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ในแต่ละเดือนปรับลดลงอย่างมาก และในเดือนธันวาคม 2563 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ลดลงต่ำที่สุดในรอบปีเหลือเพียง 25,924.10 เมกะวัตต์

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ

ปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศอยู่ในระดับสูง ยังเป็นตัวสะท้อนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ในการจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Forecast) ในแผน PDP 2018 Rev.1

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ อีกปัจจัยต้องปรับปรุงแผน PDP

ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) มีข้อมูลคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ปี 2563 อยู่ที่ 32,732 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 28,636 เมกะวัตต์

จากตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงมากถึง 4,006 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าตามสัญญาที่จะเข้าระบบปี 2563 มีมากถึง 51,943 เมกะวัตต์ จะทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่ในระบบมากถึง 23,307 เมกะวัตต์

ในอดีต กระทรวงพลังงาน มีการปรับปรุงแผน PDP หลายครั้ง เพื่อสร้างสมดุลกำลังผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า เช่น ในแผน PDP 2010 มีฉบับปรับปรุงถึง 3 ครั้ง และแผน PDP 2018 มีการปรับปรุงไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งกำลังผลิตไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการปรับแผนเกิดขึ้นเป็นระยะ

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ

ขณะที่ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 ส่งผลต่อพฤติกรรมและความต้องการใช้ไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือน ธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) อยู่ในระดับสูงอยู่แล้วยิ่งสูงขึ้น อยู่ที่ระดับประมาณ 40-50% ของกำลังผลิตไฟฟ้า

ปรับแผนเพื่อบริหาร สำรองไฟฟ้า ให้สมดุล

จากปัญหา “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” ทำให้ กระทรวงพลังงาน เร่งแก้ไขโดยการประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้ คณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ เพื่อพิจารณาจัดทำรายละเอียดแนวทางการบริหารจัดการลดระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ

จากการประชุมระหว่าง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่องแนวทางการบริหารจัดการลดระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศจากผลกระทบโควิด-19 ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการลดระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในเบื้องต้น สรุปได้ดังนี้

แนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ไฟฟ้า (เพิ่มอุปสงค์)

1. กระตุ้นให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยการใช้มาตรการลดค่าไฟฟ้า อาจดำเนินการได้ในรูปแบบการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า หรือการปรับอัตราค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้าในช่วง (Block) ท้าย ๆ ให้ถูกลง เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และทำให้ระดับ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) ลดต่ำลง รวมถึงเป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์ (Utilization Factor) ของโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น

2. การเพิ่มปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศและลดระดับ ระดับ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) ของประเทศ

3. การขายไฟฟ้าไปยังต่างประเทศ โดยประเทศที่มีศักยภาพ ได้แก่ กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งสามารถขายไฟฟ้าได้เร็วที่สุดในปี 2566 ปริมาณขายสุทธิ 480 เมกะวัตต์ (กัมพูชา 400 เมกะวัตต์ และ เมียนมา 80 เมกะวัตต์) ปริมาณเสนอขายสะสม ณ ปี 2579 ประมาณ 2,300 เมกะวัตต์ (กัมพูชา 2,000 เมกะวัตต์ และ เมียนมา 300 เมกะวัตต์) ซึ่งจะช่วยลดระดับ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) และยังเป็นการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในประเทศให้เกิดประโยชน์ มีความคุ้มค่า ลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และเป็นการเพิ่มรายได้เข้าประเทศด้วย

แต่ทั้งนี้ในกรณีที่ขายไฟฟ้าให้ต่างประเทศด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาที่ขายในประเทศ อาจทำให้เกิดประเด็นหรือข้อร้องเรียนได้

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ

แนวทางการลดกำลังผลิตโรงไฟฟ้า (ลดอุปทาน)

1. เจรจาเลื่อนวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าที่ผูกพันแล้ว ควรจะต้องพิจารณาการกำหนดหลักเกณฑ์ ที่เหมาะสมก่อนดำเนินการ เช่น ต้องเป็นโครงการที่ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เป็นต้น

2. เร่งปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบเร็วขึ้น (Buy out) ควรพิจารณาการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมก่อนดำเนินการ เช่น ระยะเวลาที่จะสิ้นสุดสัญญา ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เป็นต้น

ข้อกังวลคือ การพิจารณาเลื่อน COD สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าที่ผูกพันแล้ว หรือการเร่งปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบเร็วขึ้น จะต้องเจรจาระหว่างคู่สัญญา พิจารณาคัดเลือกโรงไฟฟ้า ที่มีความเหมาะสม และมีความคุ้มค่า เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่าย และค่าชดเชยที่เกิดขึ้น อย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดภาระ หรือผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ของประชาชนทั้งประเทศ และยังคงไว้ซึ่งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

จากการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานด้านพลังงาน ทั้ง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน   และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยจะมีการสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาในปี 2564

คาดว่าจะเป็นข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การปรับปรุงแผนจัดหาไฟฟ้าฉบับใหม่ ภายใต้ แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (Thai Integrated Energy Blueprint: TIEB) หรือ แผนพลังงานชาติ ที่จะต้องนำเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 6 เดือน หรือ ประมาณเดือน เมษายน พ.ศ. 2564

ทั้งนี้แผนพลังงานแห่งชาติ จะเป็นแผนบูรณาการ 5 แผน คือ

1. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (Alternative Energy Development Plan 2018: AEDP 2018)

2. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (Power Development Plan: PDP 2018 Rev.1)

3. แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561–2580 (Energy Efficiency Plan: EEP 2018)

4. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561–2580 (Gas Plan 2018)

5. แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563–2567

กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขปัญหาและวางแผนบริหารกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงจะมีการทบทวนเกณฑ์มาตรฐานใหม่ด้วยว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองควรอยู่ที่ระดับ 15% ของกำลังผลิตไฟฟ้าหรือไม่

ตลอดจนประเมินถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเติบโตจากเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า(EV) รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 13 สายด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าระบบไฟฟ้าของไทยจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าจนเกินไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight