Environmental Sustainability

โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน โรงไฟฟ้าชีวมวลคู่ชุมชน

จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกข้าวมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ด้วยลักษณะความพร้อมเชิงพื้นที่ และการเข้าถึงระบบชลประทาน รวมถึงแหล่งน้ำขนาดเล็ก เอื้อให้เกิดการทำการเกษตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด

ข้อมูลพื้นฐานทางการเกษตร พ.ศ. 2563 สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด รายงานพื้นที่ถือครองทางการเกษตรว่า จากพื้นที่ของจังหวัดร้อยเอ็ดทั้งหมด 5,187,156 ไร่ เป็นพื้นที่ภาคการเกษตรทั้งหมด 3,541,114 ไร่ คิดเป็น 68.26% ของพื้นที่ทั้งหมด ภาพรวมพื้นที่ถือครองทางการเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ปี 2563 มีที่นา 3,094,794 ไร่ คิดเป็น 87.40% ของพื้นที่ภาคเกษตร

โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน

มีจำนวนครัวเรือนในภาคการเกษตร อยู่ถึง 244,351 ครัวเรือน จากทั้งหมด 382,913 ครัวเรือน คิดเป็น 63.81% ปีการผลิต พ.ศ. 2562/63 ประเมินผลผลิตข้าวของจังหวัดร้อยเอ็ด มีผลผลิตข้าวเจ้านาปี 1,022,215 ตัน ผลผลิตข้าวเหนียวนาปี 253,582 ตัน รวมผลผลิตข้าวเจ้านาปรัง 1,275,797 ตัน และผลผลิตข้าวเหนียวนาปรัง 128,555 ตัน

เห็นได้ว่าผลผลิตข้าวในแต่ละปีมีปริมาณมาก ทำให้เกิดการจัดตั้งโรงสีข้าวกระจายครอบคลุมอยู่ทั่วจังหวัดร้อยเอ็ด และเกิดเศษวัสดุจากการสีข้าวก็คือ แกลบ จังหวัดร้อยเอ็ดจึงมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล รองรับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง

โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทลูกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีแผนพัฒนา โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน ขึ้นในพื้นที่ตามนโยบายของ เอ็กโก กรุ๊ป ในการส่งเสริมโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ได้แก่ แกลบ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน ดำเนินงานภายใต้การจัดตั้ง บริษัท ร้อยเอ็ดกรีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ระหว่าง เอ็กโก กรุ๊ป ถือหุ้นสัดส่วน 70.30% บริษัท เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ ประเทศไทย จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 24.70% และ สมหมาย ไรซ์มิล พาร์ทเนอร์ชิป ถือหุ้นสัดส่วน 5%

การพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้าจากแกลบ ในยุคนั้น สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ที่ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ให้การสนับสนุนตั้งแต่ริเริ่มโครงการ และวางกรอบให้เป็น โรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ (Pilot Plan) เพราะแกลบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้น ถือเป็นพลังงานทดแทนการใช้พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ประเทศไทยต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานเหล่านี้ เป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้ามากถึง 70%

อีกทั้งการพัฒนาโครงการ ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment: BOI) รวมทั้ง กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) ได้สนับสนุนค่าค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน

โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน โรงไฟฟ้าชีวมวลคู่ชุมชน

โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน ตั้งอยู่ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโรงไฟฟ้าประเภทโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Plant Firm: SPP) ใช้เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2544 มีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 9.95 เมกะวัตต์ ผลิตไว้ใช้ภายในโรงงาน 1.15 เมกะวัตต์ เป้าหมายหลักเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งจำหน่ายให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) ปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายที่ 8.80 เมกะวัตต์ ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 21 ปี เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2546 โดยส่งไฟฟ้าตามสายส่งเข้าสู่ระบบที่สถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดร้อยเอ็ด ทั้งนี้โรงไฟฟ้าจะหมดอายุสัญญาในปี 2567

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ รับซื้อแกลบตามโรงสีต่าง ๆ ในรัศมี 80 กิโลเมตร โดยต้องใช้วัตถุดิบประมาณ 100,000 ตันต่อปี ขณะที่กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล แกลบ และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จะถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้หม้อไอน้ำขนาดใหญ่ (Boiler) เกิดไอน้ำที่แรงดันและอุณหภูมิสูง นำไปเป็นพลังงานหมุนเครื่องกันหันไอน้ำ เพลาที่ต่ออยู่จะหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เกิดการเหนี่ยวนำ และมีกระแสไฟฟ้าไหลออกสู่ระบบสายส่งไปสู่สถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดร้อยเอ็ด จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป

ด้วยศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้า 8.8 เมกะวัตต์ คิดเป็นปริมาณถึง 1/3 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในตัวเมืองร้อยเอ็ด โรงไฟฟ้าแห่งนี้จึงเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ด ช่วยให้จังหวัดมีความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะมีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ใกล้ หากไม่มีโรงไฟฟ้าในพื้นที่แล้ว จะต้องส่งไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่มาถึงจังหวัด ซึ่งต้องลงทุนค่าสายส่งสูงมาก อีกทั้งยังเกิดการสูญเสียกระแสไฟฟ้า ตามสายส่งจากแหล่งผลิตมาถึงสถานีไฟฟ้า

อีกทั้งยังสร้างประโยชน์ในระดับประเทศสูงมาก การใช้พลังงานทางเลือกจากแกลบ จะเป็นทางออกที่ดี ของการลดการสูญเสียเงินตรานำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมาผลิตกระแสไฟฟ้า หากเทียบกับการใช้น้ำมันเตา ซึ่งมีการคิดคำนวณในช่วงจัดตั้งโรงไฟฟ้าพบว่า ตามศักยภาพการผลิตของโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน ต้องใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 13.8 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 96.6 ล้านบาท ณ ระดับราคาน้ำมันเตาเมื่อปี พ.ศ. 2544 ที่ระดับราคา 7 บาทต่อลิตร

หากครบอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 21 ปี ประเทศไทยจะลดการนำเข้าน้ำมันเตาได้ประมาณ 290 ล้านลิตร หรือ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,030 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันนี้ ราคาน้ำมันเตาปรับสูงขึ้นกว่าอดีตมาก ดังนั้น การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากแกลบเมื่อ 18 ปีก่อน ถือเป็นการตัดสินใจวางรากฐานความมั่นคงทางพลังงานที่คุ้มค่า

นอกจากนี้การใช้พลังงานทางเลือกจากแกลบ ยังเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในจังหวัดร้อยเอ็ด เพราะแกลบถือเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ ทั้งยังก่อมลพิษฝุ่นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงสีข้าว

การเข้ามาลงทุนรับซื้อแกลบ ทำให้แกลบกลายเป็นสิ่งมีค่าทันที โดยระยะเริ่มต้นก่อสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อปี 2544 แกลบมีราคารับซื้ออยู่ที่ตันละ 80-100 บาท ทำให้เกษตรกรรมในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เพาะปลูกข้าวขายเท่านั้น ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน

โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน

สูตรสำเร็จของโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแล้ว ยังได้นำ เทคโนโลยีชั้นสูงด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม มาใช้ โดยเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ระบบกำจัดฝุ่นแบบใช้ประจุไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator: ESP) เป็นแห่งแรกของประเทศ ซึ่งสามารถลดปริมาณฝุ่นจากการเผาไหม้แกลบ ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อย

โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน จึงเป็นต้นแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างโรงไฟฟ้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการรับรองจาก มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (Energy for Environment Foundation: E for E) ให้เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี และเป็นที่ยอมรับของชุมชน

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน ยังได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคอาเซียนประเภท On-Grid และรางวัลชนะเลิศโครงการดีเด่นด้านพลังงานใหม่และหมุนเวียนของประเทศไทย ประเภท On-Grid ซึ่งจัดโดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในปี 2547

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ยังมอบรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับประเทศ “ระดับเพชร” เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน

การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีนที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ของประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดใกล้เคียง กล่าวคือ การผลิตไฟฟ้าโดยใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมของจังหวัดร้อยเอ็ดด้วยระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพสูง เนื่องจากมีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ใกล้กับผู้ใช้ รวมทั้งช่วยลดความสูญเสียรวมของระบบสายส่งของประเทศ

นอกจากนี้ ยังเกิดการสร้างงาน การกระจายรายได้ให้กับชุมชน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ โดยพึ่งพาวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น และในบางช่วงเวลายังเกิดการแย่งซื้อวัตถุดิบคือ แกลบ จนส่งผลให้ราคาแกลบขยับสูงขึ้น ส่งผลให้ทางโรงไฟฟ้า ได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ยืดหยุ่นสามารถใช้เชื้อเพลิงผสมได้ ทั้ง แกลบ เหง้ามัน และเศษไม้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากแกลบในยุคนั้นเกิดขึ้นได้จริง นโยบายส่งเสริมการลงทุนของ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ก็เป็นอีกส่วนสำคัญ โดยมีนโยบายให้การสนับสนุนการลงทุนในด้านพลังงานทดแทนสูง และจัดลำดับความสำคัญการส่งเสริมการลงทุนเป็นลำดับต้น ๆ ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนสูง จูงใจให้เกิดการลงทุน โดยสนับสนุนยกเว้นภาษีเงินได้ 100% เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี และจ่ายในอัตรา 50% อีก 5 ปี ส่วนเครื่องจักรผลิตที่นำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ผลิตไฟฟ้า จะได้รับยกเว้นไม่เสียภาษีนำเข้า เนื่องจากเห็นว่าการใช้แกลบมาผลิตกระแสไฟฟ้า ถือเป็นพลังงานทดแทนที่สำคัญ ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง สร้างผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทางเลือกของรัฐบาล ที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ในภาวะวิกฤตน้ำมันราคาแพง

ด้วยเหตุนี้การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน จึงขยายการลงทุนเข้ามาในภาคอีสานจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนที่จูงใจแล้ว ยังมีความพร้อมด้านวัตถุดิบรองรับ จากศักยภาพของภาคอีสานที่เป็นฐานเกษตรแปรรูปขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งโรงสีข้าว โรงงานมันสำปะหลัง โรงงานน้ำตาล เศษวัสดุที่เหลือจากการแปรรูปสินค้าเกษตร ล้วนนำใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ ส่งผลให้ภาคอีสานจะกลายเป็นศูนย์กลางลงทุน ด้านพลังงานทดแทนจากพืชในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight