Environmental Sustainability

โมเดลกำแพงเพชร บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด

จังหวัดกำแพงเพชร เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ที่เป็นแหล่งการผลิตภาคการเกษตรขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีพืชเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการปลูกไม้โตเร็วในกลุ่มยูคาลิปตัส ทำให้ในแต่ละปีมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก

ด้วยศักยภาพดังกล่าว ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ถือเป็นพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังสร้างความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า รองรับความต้องการใช้ของคนในพื้นที่ ทำให้บริษัทเอกชนที่มีความพร้อม และมีเงินทุนจึงจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นในจังหวัดกำแพงเพชร

โรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย
โรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ของ บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด หรือที่คนในพื้นที่รู้จักกันในนาม โรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย ได้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลมากว่า 8 ปีแล้ว พิสูจน์ให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล ทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด จะยังคงยึดมั่นในการประกอบกิจการที่ดีต่อไป

บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นที่ตำบลคุยบ้านโอง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร หรือ โรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 7.5 เมกะวัตต์ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ใช้ภายในโรงไฟฟ้า 650 กิโลวัตต์ ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 6.6 เมกะวัตต์ ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรายเล็กมาก หรือ VSPP

บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ของ กลุ่มบริษัทสหโคเจน (เครือสหพัฒน์) มีความเชี่ยวชาญด้านโรงไฟฟ้าชีวมวล กับ บริษัท สยามฟอรสทรี จำกัด (เครือปูนซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของไทยที่ดำเนินธุรกิจไม้ โดยครอบคลุมการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็ว การปลูกสวนไม้ การจัดหาไม้และเชื้อเพลิงชีวมวล ทำให้มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า และความมั่นคงของเชื้อเพลิงชีวมวล

โรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 โดยเชื้อเพลิงชีวมวลที่นำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า มาจากเปลือกไม้และปลายไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษของกลุ่มธุรกิจกระดาษในเครือปูนซิเมนต์ไทย รวมทั้งการจัดซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่น ได้แก่ เหง้ามันสำปะหลัง แกลบ ซังข้าวโพด เป็นต้น

สูตรสำเร็จของ โรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย

เชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้า จะมาจาก เศษไม้ยูคาลิปตัส จากการส่งเสริมของเอสซีจี มีอยู่ประมาณ 2 แสนไร่ จะมีเศษไม้เข้ามาป้อนโรงไฟฟ้า 700-1,000 ตันต่อวัน เปลือกไม้ใช้ทำเชื้อเพลิง เนื้อไม้ส่งไปทำกระดาษ โดยใช้เปลือกไม้และเศษไม้ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล สัดส่วนสูงถึง 75% และเชื้อเพลิงอื่น ๆ อีก 25%

สูตรสำเร็จของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เริ่มต้นจากการออกแบบกระบวน และคัดเลือก เทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำเชื้อเพลิงชีวมวลมาผลิตไอน้ำ ผ่านระบบกังหันไอน้ำแบบคอนเดนซิ่ง เทอร์ไบน์ ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่วนไอน้ำจะควบแน่นเป็นน้ำร้อน แล้วปั๊มกลับเข้าสู่ระบบหม้อน้ำ เพื่อหมุนเวียนนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า

อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการกำจัดมลพิษ หรือของเสียจากกระบวนการผลิต ในของส่วนก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ จะผ่านระบบที่ใช้ประจุไฟฟ้าดักจับฝุ่นละอองได้เกือบทั้งหมด สามารถกรองฝุ่นละอองได้ถึง 99%

ขณะที่น้ำเสียที่เกิดจากการผลิตจะนำมาสู่บ่อพัก 2 บ่อ เพื่อปรับสภาพกรด ด่าง ให้เป็นกลาง แล้วนำน้ำทั้งหมดมาใช้รดน้ำต้นไม้ พื้นที่สีเขียวภายในโรงไฟฟ้า และบางส่วนนำไปเก็บในบ่อดับเพลิงของโรงไฟฟ้า โดยไม่ปล่อยน้ำออกสู่ภายนอกโรงไฟฟ้า กระบวนการทั้งหมดมุ่งเน้นการดำเนินงานแบบยั่งยืน รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับชุมชน การสนับสนุนกิจกรรม การพัฒนาสังคม วัฒนธรรม และแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่

โรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย

ส่วนขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวล จะนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของปุ๋ยหมัก เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งยังร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเถ้าชีวมวลอื่น ๆ เช่น อิฐปูถนน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งให้ได้มากที่สุด

โรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทำให้มีแหล่งน้ำพอเพียง สำหรับการผลิตตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องรบกวนน้ำใช้เพื่อการเกษตร และไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกสู่ภายนอกโรงไฟฟ้า รวมทั้งยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 28,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ ยังได้รับการรับรองว่า มีการดำเนินการที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามข้อกำหนดมาตรฐานมงกุฎไทย โดย องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. เพื่อให้เป็นมาตรฐานแสดงคุณภาพโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดของประเทศไทย ให้เทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล ควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งผู้พัฒนาโครงการ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Criteria: SDC) ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นตัวกำหนด

นอกจากนี้ บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 เป็นมาตรฐานสากลที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานภายในองค์กร

ได้รับมาตรฐาน ISO 14001 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล สำหรับระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อเพิ่มสมรรถนะสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร และเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

มอก. 18001 หรือ OHSAS 18001 (Occupational Health and Safety Management System: OHSAS) ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการภายในองค์กร เพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตราย และความปลอดภัยของพนักงาน ปรับปรุงการดำเนินการขององค์กรให้เกิดความปลอดภัย และช่วยสร้างภาพพจน์ความรับผิดชอบขององค์กรต่อพนักงาน

โรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย

ความสำเร็จของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ผ่านการการันตีด้วยรางวัลการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยกระดับมาตรฐานในด้านต่าง ๆ ทำให้ โรงไฟฟ้าชีวมวลของ บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด ได้รับรางวัล Thailand Energy Awards 2015 ถือได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ และประชาชน เข้ามาศึกษา เพื่อนำความรู้ และประสบการณ์ไปต่อยอด ขยายผลในการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่อื่น ๆ

บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด ได้รับการรับรองโครงการแนวร่วมปฏิบัติ ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561

ยิ่งไปกว่านั้นโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังตระหนักถึง การลดมลภาวะหมอกควันจากการเผาไหม้ ตามยุทธศาสตร์จังหวัดกำแพงเพชร จึงมีนโยบายรับซื้อใบอ้อย ที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เดิมเกษตรกรมักจะเผาทิ้ง แต่ได้นำมาทำเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อลดการเผาทิ้ง และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยปี 2564 ได้ขยายพื้นที่เพิ่มเพื่อรองรับการเก็บใบอ้อยจากเกษตรกรให้เพียงพอ ตามแผนการรับซื้อฤดูเพาะปลูก ปี 2563/64

การรับซื้อใบอ้อยสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า มีแผนรับซื้อใบอ้อยในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ปี 2563/64 จำนวน 25,000 ตัน ช่วยลดพื้นที่ในการเผาใบอ้อยได้ถึง 25,000 ไร่ และยังเป็นส่วนสำคัญช่วยประเทศลดภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร

โรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง จากการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรม อีกทั้งยังไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จากการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ชุมชนบริเวณโดยรอบได้ประโยชน์จากการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นอกจากลดผลกระทบจากการเผาทิ้งแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าเป็นอย่างดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight