Environmental Sustainability

เอสซีจี ชูโมเดลความร่วมมือ ‘PPP สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ วอนรัฐหนุนธุรกิจสู่เป้าหมาย ‘Net Zero’

เอสซีจี เผยความสำเร็จ Net Zero เดินหน้า สระบุรีแซนด์บ็อกซ์นำร่อง แนะรัฐบาลสนับสนุนธุรกิจ เดินหน้าสู่ความยั่งยืน

ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ร่วมเสวนาในหัวข้อ Thailand Net Zero Target: Readiness and Challenges ในงานเสวนา Thailand Net Zero 2024 – Now or Never จัดขึ้นโดยสำนักข่าว The Bangkok Insight ฉลองก้าวเข้าสู่ปีที่ 7

สระบุรีแซนด์บ็อกซ์

ดร.ชนะ กล่าวว่า ปีนี้ เอสซีจีมีอายุครบรอบ 111 ปี พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายความยั่งยืน ปี 2573 สอดคล้องกับเป้าหมายเอ็นดีซี (NDC) ของประเทศ เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าที่ประเทศตั้งไว้

ในการดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญคือ การมีนโยบายที่ชัดเจน การทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

สำหรับการดำเนินงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะเป็นการใช้โรดแมประดับโลก เชื่อมโยงกับประเทศไทย ในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อกำหนดเป้าหมายและแผนงานร่วมกันทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ยกระดับการดำเนินงาน การถ่ายทอดความรู ้และเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวเดินและพัฒนาไปร่วมกัน

ปูน นโยบาย

ดร.ชนะ ยกตัวอย่างของ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ที่วางเป้าหมายให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำที่เป็นฐานไปสู่การเป็นพื้นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero emission แห่งแรกของไทย โดยเป็นสถานที่ทดลองการทำงานร่วมกับภาครัฐ มีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ทั้งด้านนโยบาย เทคโนโลยี และการหาเงินมาสนับสนุนโครงการ ซึ่งทั้งสามสิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

สาเหตุที่เลือกสระบุรี เป็นโครงการทดลองนำร่อง เนื่องจากเพราะมีธุรกิจซีเมนต์ประมาณ 80% มีการนำเข้าถ่านหินปีละ 2 หมื่นล้านบาท หากสามารถเปลี่ยนมาใช้ไบโอแมส หรือกระทั่งการนำขยะของจังหวัดสระบุรีมาผลิตพลังงานทดแทน จะสามารถทดแทนการนำเข้าพลังงานได้อย่างมาก

ดร.ชนะ ยังยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการสนับสนุนของรัฐบาลในเรื่อง Net Zero เช่น นอร์เวย์ ที่วางนโยบายว่าจีดีพีจะโตได้จากธุรกิจน้ำมัน และแก๊ส โดยรัฐบาลช่วยพัฒนาแหล่งกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล และแบ่งปันให้ประเทศในยุโรปใช้ ด้วยการพัฒนาแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึง 4 แสนตันต่อปี ในธุรกิจซีเมนต์ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระดับนโยบายมาที่การเงินของรัฐที่จะสนับสนุน โดยมีโปรเจคต่อเนื่องชัดเจน

ปูน

เอสซีจีพยายามทำภายในให้เชื่อมโยงกับการเงิน เพราะในอีกหนึ่งสองปี ไทยจะต้องเจอมาตรฐาน TCFD ที่ต้องรายงานการใช้เงินให้เชื่อมโยงกับการลดคาร์บอน เพื่อดูว่าธุรกิจกรีนหรือไม่ ตามมาตรฐาน ISSB หรือ International Sustainability Standards Board ที่เชื่อมโยงมาจาก COP

ในภาพรวมการดำเนินงานทั้ง 3 ธุรกิจหลักของเอสซีจี ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์ แพคเกจจิ้ง และเคมิคอลส์ ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยธุรกิจซีเมนต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง 40% จากความร้อนที่ปล่อยทิ้ง รวมทั้งโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm)ทดแทนการใช้ถ่านหิน 40-50% จากเชื้อเพลิงทางเลือก และการพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo