“กรมทะเลชายฝั่ง” ประชุมขับเคลื่อน “โครงการปลูกป่าชายเลน” เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต และงานด้านป่าชายเลนทุกมิติ แก่หน่วยงานในสังกัด
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) และพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol : KP) เมื่อปี พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2545 ตามลำดับ
ซึ่งการเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งก้าวหนึ่งของไทย เนื่องจากได้ตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน ที่จะรักษาโลกนี้ไว้ให้กับลูกหลาน เจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีความต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ
มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050
และในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ได้กล่าวถ้อยแถลงยืนยันว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และพร้อมที่จะยกระดับการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการยกระดับ Nationally Determined Contributions : NDCs หรือการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก และการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศกำหนด จาก 20 – 25% ให้ถึง 40%
ส่งเสริมความร่วมมือ รัฐ–เอกชน–ชุมชน ยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการรับมือและแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย พร้อมทั้งตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก
เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่ปรากฏในเป้าหมายของความตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2580
โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มๆพื้นที่สีเขียว และการป้องกันการบุกรุกป่าและเผาป่า
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด เร่งดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก ตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน เห็นได้จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่ได้ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ตั้งแต่ปี 2557
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ ซึ่งเป็นกลไกในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการในภาคขนส่ง รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้แล้วยังสามารถรักษาและสร้างสมดุลของความหลายหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย
นายอภิชัยฯ รรท.อทช กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อน รวมถึงการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
โดยได้ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน 300,000 ไร่ ภายใน 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 เป็นต้นไป และได้ออกระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอก และสำหรับชุมชน
ขับเคลื่อนปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต
ในการนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มอบหมายให้กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอกและสำหรับชุมชน “ ขึ้น ระหว่างวันที่ 1 – 2 เมษายน 2566
โดยมีเจ้าหน้าที่กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ผู้อำนวยการศูนย์บริหารฯ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการทรัพยากรป่าชายเลน ในสังกัดสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 ผู้อำนวยการส่วนฯ ข้าราชการในสังกัดกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมจำนวน 100 คน ณ ห้องประชุมโรงแรมเบสท์เวสเทิร์น นาดาดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ตนได้มอบนโยบายการดำเนินงานและติดตามการดำเนินงานด้านป่าชายเลน ของหน่วยงานในสังกัดกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10
สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 ในการจัดทำโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน และโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอก
อีกทั้งซักซ้อมกรอบแนวทางการจัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ทั้ง 2 ลักษณะ รวมถึงติดตามภารกิจงานด้านป่าชายเลน สรุปปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานและเสนอแนวทางแก้ไข
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการบรรยายให้ความรู้จากวิทยากร ในหัวข้อ แนวทางการจัดทำโครงการป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย พร้อมทั้งแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมระดมสมองแนวทางการขับเคลื่อนดำเนินโครงการฯ ตลอดจนติดตามผลการปฏิบัติงาน และผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณ พ.ศ. 2566
รวมถึงการรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนด้านป่าชายเลนทุกมิติ เพื่อร่วมกำหนดการขับเคลื่อนแผนงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด ต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘กรมทะเลชายฝั่งสัญจร’ พบปะพี่น้องเครือข่ายทางทะเล ครั้งที่ 3 สร้างการรับรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ‘วราวุธ’ สั่งกรมทะเลชายฝั่ง เร่งแก้ปัญหา ‘ภาษีที่ดิน’ พื้นที่ ‘ป่าชายเลน’
- กทม. ถกไปรษณีย์ไทย ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนเอกสารเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง