‘กรมทะเลชายฝั่งสัญจร’ พบปะพี่น้องเครือข่ายทางทะเล ครั้งที่ 3 ชุมชนอ่าวไทยตัว ก เสริมสร้างความรู้ใหม่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ก้าวทันอนาคต
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ทรัพยากรทะเลทางและชายฝั่งของประเทศไทย มีความอุดมสมบูรณ์และมีความละเอียดอ่อนในด้านระบบนิเวศ ซึ่งเป็นฐานอาหารและอาชีพที่สำคัญของคนในพื้นที่มาเป็นเวลาช้านาน มีคุณประโยชน์ที่ส่งต่อถึงวิถีชีวิตและความมั่นคงด้านอาหารของผู้คนที่หลากหลายกลุ่ม
แต่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากเกินไป ส่งผลกระทบทางลบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญหลายชนิด เช่น ป่าชายเลน ที่ดินชายหาด แนวปะการัง หญ้าทะเล และสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งทำให้ทรัพยากรเหล่านี้เกิดความเสื่อมโทรมลงไปจนอยู่ในขั้นตอนที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน
สร้างการมีส่วนร่วม ชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล
โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีแนวคิดให้ชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลเข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ
ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานตามมาตรการ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เป็นไปตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผนวกกับแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต ที่มีการบูรณาการเป้าหมาย Net Zero เข้าสู่นโยบายระดับชาติ เร่งรัดการจัดทำพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 8 หมวด 59 มาตรา ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการคาดการณ์ และประเมินความเสี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นำมาจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนปรับโครงสร้างของกระทรวงฯ ให้รองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งการออกระเบียบส่งเสริมการปลูกป่า และการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตระหว่างภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนโยบายและติดตาม เร่งรัดการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นให้คนในชุมชนชายฝั่ง ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ ร่วมวางแผน และร่วมปฏิบัติ อีกจนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถขจัดความขัดแย้งเพิ่มความรักและความหวงแหนให้กับทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง ป่าชายเลน รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก
และร่วมหารือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการรุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลน พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านกลไกความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผสานกับการใช้กฎหมายของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ยั่งยืนต่อไป
กรมทะเลชายฝั่ง พบปะเครือข่ายทางทะเล ครั้งที่ 3
นายอภิชัย กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครอง และป้องกันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วม กับเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ตลอดจนความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
อีกทั้งเสริมสร้างความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการประชุมเครือข่ายภาคีชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 3 ในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม
นับเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในทะเล พื้นที่ชายฝั่ง และพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งส่งออกอาหารทะเลขนาดใหญ่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ส่งผลให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เกินศักยภาพในการรองรับของระบบนิเวศ
ดังนั้น กรม ทช. จึงมีแนวคิดในการจัดประชุมดังกล่าวขึ้น เพื่อพบปะพูดคุยถึงแนวทางการดำเนินงานระหว่างกรม ทช. ชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินกิจกรรมร่วมกันเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนการป้องกันปราบปรามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย (กจช.) สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 (สมุทรสาคร) และจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีดร.แสงจันทร์ วายทุกข์ ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย พร้อมด้วยนายเกรียง มหาศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 และนายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร
ตลอดจนผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม เข้าร่วมประชุม จำนวน 130 คน ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ ชั้น 1 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
นายอภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง รวมจำนวน 22 กลุ่ม/602 คน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล รวมจำนวน 2,066 คน โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมง การแปรรูปสินค้าทะเล และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนชายฝั่ง ด้วยการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน มาพัฒนาสร้างมูลค่าผ่านกระบวนการต่างๆ ได้แก่ การจัดสร้างแนวเขตอนุรักษ์ การสร้างธนาคารสัตว์น้ำ การวางซั้งประเภทต่างๆ และการทำธุรกิจโฮมสเตย์เยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่
ทั้งนี้ การประชุมในครั้งที่ 4 กรม ทช. จะลงพื้นที่ไปยังจังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไปมอบองค์ความรู้ในด้านต่างๆ อีกทั้งช่วยแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน รวมถึงสัตว์ทะเลหายากแก่พี่น้องเครือข่ายชุมชนและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล
ความจริงใจ รับฟังความคิดเห็น เอื้อเฟื้อ พร้อมช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหา หัวใจของการมีส่วนร่วม
อย่างไรก็ตาม การทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ต้องคำนึงถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารที่เข้าถึงง่าย ตลอดจนมีฐานข้อมูลเครือข่ายฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานฯ ในแต่ละพื้นที่ จะต้องใกล้ชิดกับผู้นำชุมชนชายฝั่ง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยหัวใจหลักของการทำงานด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมคือ “ความจริงใจ รับฟังความคิดเห็น เอื้อเฟื้อ พร้อมช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหา” อันจะนำไปสู่ความไว้วางใจ และทัศนคติที่ดีของเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล
นอกจากนี้ กรม ทช. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนตามนโยบายหลักของกระทรวงฯ อีกทั้งดำเนินงานในด้านต่างๆ อาทิ การจัดทำแผนงานของเครือข่ายชุมชนเพื่อเสนอกองทุนสิ่งแวดล้อมพิจารณา การจัดสรรงบประมาณผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ การปรับภาษีที่ดินให้เป็นแปลงเกษตรกรรมภาษีราคาต่ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนให้เสียภาษีในราคาถูก
ตลอดจนสนับสนุนสวัสดิการและจัดสรรงบประมาณโครงการของเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และการขึ้นทะเบียนป่าชายเลนชุมชน เพื่อให้พี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแล รักษาทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่บ้านของตนเองให้สมบูรณ์ต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘วราวุธ’ สั่งกรมทะเลชายฝั่ง เร่งแก้ปัญหา ‘ภาษีที่ดิน’ พื้นที่ ‘ป่าชายเลน’
- กทม. ถกไปรษณีย์ไทย ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนเอกสารเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- มท.1 ตอบกระทู้ ย้ำ เก็บภาษีตาม ‘พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ เป็นธรรมกับทุกคน ไม่กระทบผู้มีรายได้น้อย