General

‘วราวุธ’ สั่งกรมทะเลชายฝั่ง เร่งแก้ปัญหา ‘ภาษีที่ดิน’ พื้นที่ ‘ป่าชายเลน’

“วราวุธ” สั่งกรมทะเลชายฝั่ง เร่งหาแนวทางแก้ปัญหาภาษีที่ดิน กับพื้นที่ป่าชายเลนที่มีเอกสารสิทธิ เพื่อสนับสนุนประชาชนเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน

จากกรณีที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แสดงความวิตกต่อพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เนื่องจากคำจำกัดความของพื้นที่เกษตรกรรม ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาเกษรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2560 กำหนดว่า การประกอบเกษตรกรรม หมายถึง “การปลูกพืช เพื่อการบริโภคหรือจำหน่ายหรือใช้งานในฟาร์ม”

ภาษีที่ดิน

ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนในที่ดินกรรมสิทธิ์ของประชาชน ไม่เข้าข่ายนิยามพื้นที่เกษตรกรรม แต่ถูกประเมินให้เป็นลักษณะที่ดินตามมาตรา 37 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เข้าข่ายที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ซึ่งมีอัตราภาษีแพงกว่าพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนในที่ดินกรรมสิทธิ์ลดจำนวนลง ต้นไม้ป่าชายเลนในพื้นที่เอกสารสิทธิ์ถูกแผ้วถางเพื่อปลูกพืชเกษตรกรรม ทั้งที่พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ดินเลนไม่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมนั้น

ภาษีที่ดิน

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ( รรท.อทช.) กล่าวว่าได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนท้องถิ่น และประชาชน จังหวัดสมุทรสงครามเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และได้จัดประชุมเพื่อรับฟังปัญหาจากผู้แทนภาคประชาชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากภาครัฐ เกี่ยวกับปัญหาหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษีที่ดินป่าชายเลนกรรมสิทธิ์

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา และคณะ ยังได้ลงพื้นที่ป่าชายเลนที่มีเอกสารสิทธิ์ที่มีการปรับพื้นที่เพื่อปลูกไม้สนเพื่อประกอบแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไปด้วย

ภาษีที่ดิน

จากปัญหาดังกล่าว นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รู้สึกเป็นห่วงเกรงว่าพื้นที่ป่าชายเลนในอนาคตอาจลดลง หากป่าชายเลนในพื้นที่เอกสารสิทธิ์ถูกแผ้วถางเปลี่ยนแปลงสภาพลง จึงมอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามกำกับให้ กรม ทช. เร่งดำเนินการเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา

ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับนิยามของคำว่า “พื้นที่สีเขียว” โดยเพิ่มให้เป็นประเภทที่ดิน ที่ไม่เข้าข่ายเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ ให้พื้นที่ป่าชายเลนของประชาชนดังกล่าว ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ภาษีที่ดิน

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการส่งเสริมปลูกป่าชายเลนในที่ดินเอกสารสิทธิ์ ท้องที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม โดยจะสนับสนุนงบประมาณให้ประชาชนปลูกสวนป่าชายเลนในพื้นที่เอกสารสิทธิของตน ในอัตราไร่ละ 3,850 บาท และบำรุงแปลงปลูกปีที่ 2-3 ไร่ละ 420 บาท และได้ขอตั้งงบประมาณในจังหวัดชายฝั่งอื่นในปีต่อไป ซึ่งจะช่วยป้องกันรักษาพื้นที่ป่าชายเลน ไม่ให้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเนื่องจากอัตราภาษีที่ดิน

อีกทั้ง กรม ทช. ยังมีพันธุ์กล้าไม้ป่าชายเลนที่พร้อมแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่ง ซึ่งสามารถนำไปปลูกในพื้นที่ของตน เพื่อประโยชน์ด้านภาษีที่ดินและตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน 3 แสนไร่ ภายใน 10 ปี ภายใต้การดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากองค์กรภาคเอกชน และประชาชนในการดำเนินงาน

ภาษีที่ดิน

ทั้งนี้ “ป่าชายเลน”  ถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญที่อยู่บริเวณชายฝั่ง เป็นระบบนิเวศที่ประกอบด้วยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์หลายชนิด เป็นแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์ และที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตโอโซนช่วยลดโลกร้อน เพราะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าพื้นที่ป่าปกติ รวมถึงเชื่อมผืนน้ำให้เข้ากับผืนดินได้อย่างกลมกลืน ป่าชายเลนจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามหาศาล

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรม ทช. จึงให้ความสำคัญและถือเป็นแนวนโยบายหลักในการปกป้อง อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรป่าชายเลนให้คงอยู่ และเพิ่มปริมาณขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลน โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วม บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในการแก้ไขปัญหา ปกป้องดูแลทรัพยากรชายฝั่ง และป่าชายเลนเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo