การ์ทเนอร์ เผยมุมมองผู้บริหารระดับซีอีโอ ระบุว่า AI คือเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบสูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ
การ์ทเนอร์ เผยผลสำรวจของซีอีโอ และผู้บริหารระดับสูง พบว่า 21% ระบุว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่สุดและเชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมไปในอีก 3 ปีข้างหน้านี้
มาร์ค ราสกิโน รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า Generative AI จะส่งผลกระทบอย่างสูงต่อธุรกิจ และรูปแบบการดำเนินงานต่าง ๆ
อย่างไรก็ตามความกลัวที่จะตกเทรนด์ หรือพลาดโอกาสทางธุรกิจ กลับเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของตลาดเทคโนโลยี โดย AI กำลังเข้าไปสู่จุดที่ผู้บริหารที่ยังไม่ลงทุนในเทคโนโลยีนี้เริ่มกังวลว่าพวกเขาอาจพลาดบางสิ่งที่สำคัญในการแข่งขัน
“Growth”กลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีความสำคัญอันดับแรก
เมื่อต้องจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ซีอีโอรู้สึกลังเลแต่ยังเดินหน้าไปต่อ โดยซีอีโอเกินครึ่งเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและถดถอยในปีนี้จะกินเวลาช่วงสั้น ๆ และผลสำรวจยังเผยให้เห็นว่ากระแสเงินสด เงินทุน และการระดมทุนมีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม แม้องค์กรจะเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามา แต่ครึ่งหนึ่งของผู้บริหารระดับสูงระบุว่าการเติบโต เป็นความสำคัญเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจอันดับแรกในอีกสองปีข้างหน้านี้ โดยยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอยู่ในอันดับต้น ๆ รองลงมา คือ ประเด็นด้านแรงงาน
ทั้งนี้ หลังสามปีแห่งความผันผวน การจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินธุรกิจของซีอีโอเริ่มมั่นคง โดยผู้นำในระดับผู้บริหาร กำลังมองทะลุผ่านช่วงเวลาวิกฤตรอบด้าน ไปสู่ช่วงเวลาแห่งการขับเคลื่อนการแข่งขันในยุคถัดไป ที่ยึดพนักงานที่มีความสามารถ ความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) เป็นปัจจัยขับเคลื่อน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 25% จากการสำรวจเมื่อปีก่อน นับเป็นครั้งแรกที่ความยั่งยืนติด 10 อันดับแรกของความสำคัญเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ และคาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญสูงกว่าหมวดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
เงินเฟ้อดันพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน
ขณะที่ ซีอีโอ 22% ระบุว่าเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นความเสี่ยงที่สร้างความเสียหายต่อธุรกิจมากที่สุด และเกือบหนึ่งในสี่ของบรรดาซีอีโอคาดการณ์ว่าในปีนี้ความอ่อนไหวด้านราคา (Price Sensitivity) ที่สูงขึ้นสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดต่อความคาดหวังของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มราคาสินค้าและบริการยังเป็นแนวทางรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อที่มีความสำคัญที่สุด (44%) ตามด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน (36%) และการเพิ่มประสิทธิผล รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ระบบอัตโนมัติ (21%)
โมเยอร์ กล่าวว่า ผู้นำและซีอีโอ ต้องนำระบบอัตโนมัติมาปรับใช้ เพื่อออกแบบวิธีการทำงาน สร้างกระบวนการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้มีประสิทธิภาพ แทนที่การผลักภาระต้นทุนไปให้ลูกค้า
สิ่งสำคัญคือ การดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ
เมื่อถามถึงผลกระทบของความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีต่อธุรกิจ ซีอีโอ 26% ระบุว่าการขาดแคลนบุคลากรเป็นความเสี่ยงที่สร้างความเสียหายให้องค์กรมากที่สุด
ดังนั้นการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารควรให้ความสำคัญสูงสุด โดยความกังวลเกี่ยวกับค่าตอบแทน คือการเปลี่ยนแปลงใหญ่สุดของพนักงาน และพฤติกรรมของพนักงานในอนาคต รองลงมาคือ ความต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น และการทำงานระยะไกลหรือไฮบริด
ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ค่าจ้างมีความสำคัญมาก แต่ในวงจรเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ ปัญหาการว่างงาน มักจะบ่อนทำลายอำนาจของตลาดแรงงาน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ทำความรู้จัก ‘ผานกู่ โมเดล 3.0’ เทคโนโลยี AI แบบใหม่จาก ‘หัวเว่ย’
- ‘คน’ หัวจักรขับเคลื่อนเทคโนโลยี ‘ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี’ ลุยพัฒนากำลังคนสายดิจิทัลเต็มพิกัด
- ถอดรหัสความสำเร็จ ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน’ คือการเดินทาง ไม่ใช่ปลายทาง