Technology

คนไทย 44% เสี่ยงภัยไซเบอร์ ‘อุ่นใจ CYBER’ เปิดตัว ‘ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล’

คนไทยกว่า 44.04% คนไทยยังเสี่ยงภัยไซเบอร์ AIS ยกระดับภารกิจ “อุ่นใจ CYBER” ผนึกพันธมิตร เปิดตัว “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล” มาตรวัดทักษะดิจิทัลฉบับแรกของไทย

จากภารกิจหลักของ AIS อุ่นใจ CYBER ที่มุ่งสร้างทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาบริการดิจิทัล คัดสรรโซลูชัน และเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง

อุ่นใจ CYBER

ล่าสุด อุ่นใจ CYBER ได้ยกระดับการทำงานขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการสร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลขึ้นเป็นฉบับแรกของไทยกับ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ด้วยความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และด้านการวัดประเมินผล

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า ปัญหาภัยไซเบอร์ กลายเป็นวาระที่ทั้งโลกหันมาให้ความสำคัญ เพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรง กับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้เพราะส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล ทั้งเรื่องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การล่อลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงระดับประเทศหรือองค์กรในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องของ เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบสารสนเทศ ที่ต้องมีการรับมืออย่างจริงจัง

Pic06 Thailand Cyber Wellness

ดังนั้น AIS ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัล เข้าใจดีว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญต่อสังคมดิจิทัลทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่ผ่านมากว่า 4 ปี AIS จึงอาสาจุดประกายสังคมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ตั้งแต่วันที่ดิจิทัลเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวิถีการใช้ชีวิต ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER

โครงการ AIS อุ่นใจ CYBER เน้นการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและผลกระทบจากการใช้งาน การพัฒนาโซลูชันและบริการดิจิทัล เพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และการสร้างองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมความฉลาด และทักษะของพลเมืองดิจิทัล

จากการทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นแนวทางแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาดัชนีชี้วัด ที่จะบ่งบอกถึงระดับความรู้และทักษะดิจิทัลในด้านต่าง ๆ ที่ชัดเจนของประชาชนในแต่ละกลุ่ม

Pic01 Thailand Cyber Wellness

นอกจากนี้ ยังจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำเครื่องมือ และองค์ความรู้ส่งมอบให้กับคนไทยได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย และสอดคล้องกับปัญหาเกิดขึ้น

นี่จึงเป็นที่มาของ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ที่ถือเป็นฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีพันธมิตรรายสำคัญอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมนักวิชาการหลากหลายแขนง มาร่วมกันทำงานเพื่อยกระดับเรื่องดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อไป

ด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. กล่าวว่า ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index และเพื่อให้การศึกษาครั้งนี้ เป็นไปตามหลักมาตรฐานของการวิจัย มีความถูกต้อง แม่นยำ เชื่อถือได้ จากการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ด้านเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และการวัดประเมินผล

Pic03 ผศ.ดร.พงศ์ยุทธ์

จากนั้น จึงออกแบบระเบียบวิธีวิจัย กรอบแนวคิด จนสามารถพัฒนาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยออกมาได้ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับ Advanced ระดับ Basic และระดับ Improvement ที่จะบ่งบอกถึงความสามารถในการใช้งานดิจิทัลของประชาชนไทยแต่ละกลุ่ม ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index ชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัล ที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย

  • ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use)
  • ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)
  • ทักษะ ด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration)
  • ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights)
  • ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety)
  • ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
  • ทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship)

สำหรับขั้นตอนวิธีการเก็บผลสำรวจ มาจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน ซึ่งวันนี้จากผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา

ตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น

นายสมชัย กล่าวในช่วงท้ายว่า จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ทำให้เห็นจุดที่ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในอีกหลายประเด็น

AIS พร้อมด้วยพันธมิตร จะยังคงเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และขอบคุณทุกภาคส่วน ที่เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้ดัชนีฉบับนี้ เป็นสมบัติของประเทศไทย อันจะเป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศ ที่ช่วยให้มองเห็นเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทย ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo