COLUMNISTS

เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ตอน 11 พัฒนาการในการเปลี่ยนผ่านของเกาหลีใต้

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสตอน 11 พัฒนาการในการเปลี่ยนผ่านจาก OEM สู่ ODM ของเกาหลีใต้

การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงและยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเกาหลีใต้จากการเป็นเพียงประเทศผู้รับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer, OEM) ไปสู่การเป็นผู้ออกแบบและผลิตสินค้า (Original Design Manufacturer, ODM) ได้อย่างประสบความสำเร็จ

เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

เหตุผลหลักที่การลงทุนด้าน R&D การลงทุนใน R&D ได้เปลี่ยนแปลงเกาหลีใต้จากประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ไปสู่การเป็นผู้นำในการออกแบบและผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงมีหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ โดยการลงทุนใน R&D ช่วยให้บริษัทเกาหลีใต้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดจากการเป็นแค่ผู้ผลิตไปสู่ผู้สร้างนวัตกรรม ซึ่งนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ในด้านการพัฒนาแบรนด์และความเป็นเจ้าของเทคโนโลยี การเปลี่ยนจาก OEM ไปเป็น ODM จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถควบคุมการออกแบบและการผลิตของผลิตภัณฑ์ได้อย่างเต็มที่ การลงทุนใน R&D ช่วยให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเฉพาะที่ช่วยสร้างความแตกต่างในตลาดและสร้างแบรนด์ของตนเองได้

ความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งการเป็น ODM หมายความว่าบริษัทต้องสามารถออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำ การลงทุนใน R&D ช่วยให้บริษัทเกาหลีใต้สามารถปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ในประเด็นด้านการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะของตนเองผ่านการวิจัยและพัฒนาทำให้บริษัทเกาหลีใต้สามารถครอบครองและป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันและกำไรในระยะยาว

นอกจากนี้การลงทุนด้าน R&D ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความเชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม โดยการเป็น ODM หมายถึงการมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบและผลิตที่ลึกซึ้งกว่าการเป็น OEM การลงทุนใน R&D ทำให้บริษัทเกาหลีใต้สามารถสร้างและรักษาทักษะและความเชี่ยวชาญเหล่านี้ได้

shutterstock 588492815

หากมาพิจารณาถึงความเป็นมาและพัฒนาการของการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของเกาหลีใต้ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเกาหลีจนถึงปัจจุบัน โดยพัฒนาการของการวิจัยและพัฒนาในเกาหลีใต้เป็นกระบวนการที่มีหลายขั้นตอนและเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ประเทศนี้เติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

เริ่มต้นจากภายหลังสงครามเกาหลี (1950-1953) ที่โครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ในช่วงนี้ R&D มีบทบาทน้อยมาก โดยมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูและการสร้างโรงงานผลิตสินค้าพื้นฐานเท่านั้น

ต่อมายุคการสร้างเศรษฐกิจแบบแผน (1960s-1970s) ในยุคของประธานาธิบดีปาร์คชุงฮี มีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก นโยบายเหล่านี้ช่วยสร้างเศรษฐกิจและเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาโดยภาครัฐของเกาหลีใต้

ในช่วงนี้มีการจัดตั้งสถาบันการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (Korea Institute of Science and Technology, KIST) ในปี 1966 และในปีถัดมามีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ

ถัดมาในยุค 1980s ที่เริ่มมุ่งเน้น R&D โดยเกาหลีใต้เริ่มมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง มีการเริ่มพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม มีการตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง (Korea Advanced Institute of Science and Technology, KAIST) และสถาบันวิจัยอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมขั้นสูง (Electronics and Telecommunications Research Institute, ETRI)

ตามมาด้วยการบูรณาการ R&D ในยุค 1990s ถึงปัจจุบัน โดยในยุคนี้กล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของการลงทุนใน R&D ในเกาหลีใต้ เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอย่างแข็งขัน มีการจัดตั้งกองทุนแห่งชาติเพื่อการวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ธนกร สังขรัตน์
ธนกร สังขรัตน์

ทั้งนี้ ส่งผลให้เกาหลีใต้ได้เปลี่ยนจากการลอกเลียนแบบเทคโนโลยีสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม โดยการวิจัยและพัฒนาในช่วงนี้เน้นที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งบริษัทอย่าง ซัมซุง (Samsung) แอลจี (LG) และฮุนได (Hyundai) เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง

มาถึงยุคโลกาภิวัฒน์และเชื่อมโยงต่อมาถึงยุคดิจิทัลในปัจจุบัน เกาหลีใต้มีการเติบโตของการเร่งนวัตกรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ที่ประเทศได้เปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ชิปกึ่งตัวนำ โทรคมนาคม ข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และชีวเทคโนโลยี เป็นต้น โดยรัฐบาลและบริษัทเอกชนต่างพยายามสร้างนวัตกรรมและความเป็นเลิศในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งได้ผลักดันให้เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการลงทุนด้าน R&D สูงที่สุดในโลก

กล่าวได้ว่าการลงทุนใน R&D เป็นหัวใจสำคัญในการทำให้เกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านจากการเป็นประเทศผู้รับจ้างในการผลิต (OEM) ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำไปสู่การเป็นผู้นำในการออกแบบและผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

การลงทุนและการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ในการวิจัยและพัฒนาไม่เพียงช่วยสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ทำให้ประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วและยังคงรักษาตำแหน่งเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรในประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย

บทความโดย ธนกร สังขรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่