COLUMNISTS

เจาะลึกกระบวนการเปลี่ยนผ่านจาก OEM สู่ ODM ของเกาหลีใต้

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ตอน 9 เจาะลึกกระบวนการเปลี่ยนผ่านจาก OEM สู่ ODM ของเกาหลีใต้

ปรากฎการณ์ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้นั้น เกิดจากการมีวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่มองเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ มีความสัมพันธ์ทั้งกับการเติบโตของปัจจัยทุน (Gross Fixed Capital Formation) และการขยายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D Expenditure)

OEM สู่ ODM

รัฐบาลเล็งเห็นอย่างชัดเจนว่า การที่กิจการอุตสาหกรรมของประเทศจะเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต (OEM) ตลอดไปนั้น ไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นเกาหลีใต้จึงมีความเอาจริงเอาจังในการพัฒนากิจการอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นผู้ออกแบบ (ODM) และการเป็นเจ้าของแบรนด์ (OBM) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการก่อให้เกิดการเติบโตทางภาคอุตสาหกรรมในระดับสูง

รัฐบาลเกาหลีใต้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ระยะลอกเลียนแบบ (Imitation) กระทั่งเริ่มมีการคิดค้นเทคโนโลยีของตนเอง โดยเริ่มต้นจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการซื้อเทคโนโลยีทั้งหมดมาจากต่างประเทศ เนื่องจากในระยะแรกยังไม่สามารถผลิตได้เอง

ต่อมาได้มีการประยุกต์และพัฒนา โดยสามารถดำเนินการประกอบสินค้าได้เอง และต่อมาสามารถเรียนรู้ในการออกแบบสินค้าบางส่วนได้ กระทั่งสามารถคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ด้วยตัวเองในท้ายที่สุด

ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเกาหลีใต้นั้น เริ่มต้นจากการสั่งสมเทคโนโลยีภายในองค์กร การแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศ และการพึ่งพิงเทคโนโลยีในส่วนที่ต้องพึ่งพิงต่างประเทศ

ต่อมากิจการอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะเริ่มต้นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูก เพื่อให้เกิดประสบการณ์ความชำนาญ ซึ่งจะต้องมีความยืดหยุ่นสูงพร้อมปรับเปลี่ยนได้ตลอด

shutterstock 1983321926

ต่อไปคือ ความสามารถในการบูรณาการณ์องค์ประกอบต่าง ๆ ไปสู่ความสำเร็จในกระบวนการผลิต ขั้นตอนสุดท้ายคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ผ่านการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ

ในระยะแรกของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศเกาหลีใต้ ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากกิจการอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ อยู่ในลักษณะโรงงานประกอบสินค้าสำเร็จรูป (Assembly Plants) เป็นส่วนใหญ่จึงใช้วิธีนำเข้าชิ้นส่วนต่าง ๆ มาเพื่อทำการลอกเลียนแบบให้เกิดต้นแบบเทคโนโลยีหลักของกระบวนการผลิต (Core Technology) โดยรัฐบาลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อเทคโนโลยีหรือการผลิตภายใต้สัญญา (Licensing)

แม้ว่าในระยะนี้กิจการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ยังคงมีการซื้อเทคโนโลยีทั้งหมดมาจากต่างประเทศ แต่ก็มีกิจการอุตสาหกรรมบางส่วน ที่เริ่มมีการเรียนรู้ในการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต โดยเริ่มมีการจ้างให้บริษัทต่างประเทศดำเนินการออกแบบเครื่องจักรกลการผลิตให้

กิจการอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ ได้ใช้โอกาสในช่วงนี้ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีในกระบวนการต่าง ๆ ของการผลิตจากผู้ผลิตดั้งเดิม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าเทคโนโลยีจากสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยเริ่มต้นการเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการการออกแบบ (Design) การผลิต (Production) การประกอบ (Assembly) และกระบวนการทดสอบ (Testing)

ระยะที่สอง เป็นช่วงระยะเวลาแห่งการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี (Learning Process) โดยในระยะนี้มีการนำเข้าและเรียนรู้เทคโนโลยีจากภายนอกอย่างเต็มที่ มีการสั่งสมความรู้พื้นฐาน (Basic Knowledge) และวิธีการผลิต (Knowhow) จากประเทศที่พัฒนาแล้ว

shutterstock 2163773649

ขณะที่รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา (Joint Research) ร่วมกับผู้ผลิตชั้นนำของโลกหลายแห่ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีหลัก (Core Technology) การออกแบบเทคโนโลยี (Design Technology) และนวัตกรรม (Innovation)

ในระยะนี้ รัฐบาลยังมีการจัดส่งวิศวกรไปศึกษากระบวนการผลิตในประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยภาครัฐมองว่าการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ในระยะนี้จะช่วยให้เกิดการสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่จะเป็นผู้มาฝึกอบรมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางภายในประเทศในระยะต่อไป

ระยะที่สาม ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นการพัฒนาการผลิตด้วยการออกแบบเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตที่ลอกแบบ หรือจัดซื้อมาจากต่างประเทศ โดยเป็นช่วงระยะเวลาที่กิจการอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้สามารถดำเนินการออกแบบ ผลิต ประกอบ และทดสอบเทคโนโลยีต้นแบบของตนเองได้ และมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วยตนเองได้สำเร็จ

รัฐบาลเกาหลีใต้ มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนากิจการอุตสาหกรรม ทั้งในด้านคุณภาพควบคู่กับการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Quality and Design) โดยเน้นพัฒนาทั้งในส่วนของเทคโนโลยีการผลิต (Engine Technology) และการออกแบบเทคโนโลยี (Design Technology)

จะเห็นว่าความสำเร็จจากการเปลี่ยนผ่านจาก OEM สู่ ODM ของเกาหลีใต้มิได้เกิดขึ้นจากรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมาจากอัตลักษณ์ความเป็นชาตินิยม ที่มีวินัย มีความมุ่งมั่นทุ่มเท และมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อผู้นำประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต

บทความโดย ธนกร สังขรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่