COLUMNISTS

ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ตอน 6 เกาหลีใต้ ประเทศต้นแบบ รัฐบาลสมรรถนะสูง

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ตอน 6 รัฐบาลเกาหลีใต้ ประเทศต้นแบบที่ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจเกิดจากรัฐบาลที่มีสมรรถนะสูง

ประเทศเกาหลีใต้ มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายประการที่ทำให้เกิดความทันสมัย เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีผลในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกับปัจจัยทุน

shutterstock 1974315950

รัฐบาลเกาหลีใต้ มีความมุ่งมั่นในการกำหนดให้การพัฒนานวัตกรรมเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องบรรลุผลสำเร็จ ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศตระหนักถึงความสำคัญ เป็นผลให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจและเอาจริงเอาจังของคนในชาติในการทุ่มเทเพื่อการพัฒนา R&D อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ การดำเนินการตามแผนพัฒนานวัตกรรมแห่งชาติ (R&D Roadmap) อย่างต่อเนื่องในรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยโดยไม่ขาดช่วงทำให้ไม่เกิดภาวะสุญญากาศแห่งการพัฒนา และ Policy Consistency เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้การดำเนินนโยบายประสบผลสำเร็จได้ในระยะยาว

​การที่ประเทศสามารถดำเนินนโยบายได้ในแบบที่ได้รับฉันทามติจากทุกภาคส่วน (Consensus) ถือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่ผ่านมา เนื่องจากการดำเนินนโยบายต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป บางภาคส่วนอาจได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่บางภาคส่วนอาจเสียผลประโยชน์

ความเป็นชาตินิยมสูง หนึ่งในกุญแจความสำเร็จ

กล่าวได้ว่าความสำเร็จของการดำเนินโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ เป็นผลสะท้อนจากลักษณะเฉพาะของชนชาติเกาหลีใต้ ที่มีค่านิยมในความเป็นชาตินิยมสูง (Nationalism) ทำให้นโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลขับเคลื่อนออกมานำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

ขณะที่ประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ผู้มีรายได้น้อยไปกระทั่งถึงผู้มีความร่ำรวย ล้วนตอบสนองต่อนโยบายของรับาลไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาของประเทศก็เป็นปัญหาของประชาชนทุกคน และนโยบายของรัฐบาลจะสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคนภายในประเทศ

​รัฐบาลยังลงทุนอย่างมากในการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้โดยตรง อัตราส่วนการใช้จ่ายด้าน R&D ต่อ GDP ของเกาหลีใต้ ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในกลุ่ม OECD

shutterstock 749891683

​ประเทศเกาหลีใต้ มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้มีความครอบคลุม และทั่วถึงในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางระบบ Internet ที่ครอบคลุมและทั่วถึง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การเผยแพร่ข่าวสารแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมในประเทศเกาหลีใต้ เป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้เกิดกระบวนการแพร่ขยายของนวัตกรรม (Innovation Spread) โดยโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือของเกาหลีใต้ อยู่ในกลุ่มที่ดีที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ทั่วโลกที่สร้าง 5G ที่ครอบคลุม

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งเน้นให้เกิดระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IPRs) ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานจะทำให้ภาคเอกชนเกิดแรงจูงใจในการผลิตคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ รวมไปถึงการทำให้ต่างชาติ เกิดความเชื่อมั่นต่อการให้ความช่วยเหลือ หรือเข้ามาร่วมลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา

การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อผลิตบุคลากรเข้าสู่ภาคการวิจัยและพัฒนา เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมของประเทศ โดยรัฐบาลมีการขยายการศึกษาขั้นสูง (Tertiary Education) ระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย (Universities and Colleges) การสร้างสถาบันและหลักสูตรเพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่มีคุณภาพระดับโลก (Top-Quality Scientists and Engineers) รวมไปถึงการดึงตัวบุคลากรนักวิจัยชาวเกาหลีใต้จากต่างประเทศ กลับมาทำงานในประเทศเกาหลี (Reverse Brain Drain)

นับว่า เป็นวิธีการที่เรียกว่าเป็นทางลัด (shortcut) ในการที่ทำให้ประเทศเกาหลีใต้ได้บุคลากรสำเร็จรูปที่มีคุณภาพระดับสากล มาร่วมสร้างการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมในประเทศ ให้ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ยังได้สร้างพันธมิตรและความตกลงร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับต่างประเทศทั้งในส่วนของภาครัฐบาลและภาคเอกชนในหลายๆ อุตสาหกรรมหลัก อาทิเช่น เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

shutterstock 2078405320

พัฒนาคลัสเตอร์นวัตกรรมแห่งชาติ

ประเทศเกาหลีใต้ มีการวางแผนการพัฒนาคลัสเตอร์นวัตกรรม ตามศักยภาพของท้องถิ่นแต่ละแห่ง ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมตามศักยภาพและทรัพยากรที่แต่ละท้องที่มีอยู่ จึงส่งผลให้การลงทุนและบริหารจัดการทรัพยากรด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้การพัฒนาระบบ NIS (National Innovation System) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คลัสเตอร์นวัตกรรมแห่งชาติ จะเชื่อมโยงหน่วยงานสำคัญในภูมิภาค รวมถึงเมืองแห่งนวัตกรรม ศูนย์อุตสาหกรรม เขต R&D พิเศษ และมหาวิทยาลัย โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านาการดำเนินนโยบายมอบสิ่งจูงใจให้กับธุรกิจที่ลงทุนในคลัสเตอร์นวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือทางการเงิน เงินอุดหนุน การยกเว้นภาษี การยกเว้นตามกฎระเบียบ และโครงการนวัตกรรม

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลของเกาหลีใต้ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทางการพัฒนาร่วมกัน และร่วมกันร่างและปฏิบัติตาม Roadmap ที่ได้วางไว้ อีกทั้งยังสามารถก่อให้เกิดความร่วมมือในลักษณะอื่น ๆ ได้อีก เช่น การร่วมทุน การปรับปรุงพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเชิงนวัตกรรมระหว่างอุตสาหกรรม รวมถึง Joint Research หรือการพัฒนาบุคลากรร่วมกันอีกด้วย

นั่นคือ ประเทศเกาหลีใต้ สามารถระดมทุนทรัพยากรและบุคลากรนักวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลมาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

กล่าวได้ว่า ประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในต้นแบบรัฐบาลที่มีความสามารถ ในการดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องเริ่มต้นด้วยรัฐบาลที่มีขีดความสามารถด้านการบริหาร เพื่อดำเนินนโยบายที่ครอบคลุมทั่วทั้งปริมณฑลทางเศรษฐกิจอย่างมีพลวัติ

บทความโดย: ธนกร สังขรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่