COLUMNISTS

ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ตอน 5 วิสัยทัศน์-สมรรถนะอันยอดเยี่ยมของรัฐบาลเกาหลีใต้

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้น นับได้ว่ามาจากการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ มีสมรรถนะสูง มีการทำงานเชิงรุก (government active role) ทำให้สามารถดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมีวิสัยทัศน์ตลอดมา

ปัจจัยความสำเร็จของการออกนโยบายที่มีความเหมาะสมของรัฐบาลเกาหลีใต้ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ การวิเคราะห์สถานการณ์โลก การเข้าใจระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมภายในประเทศ และยุทธศาสตร์อันยอดเยี่ยมของการวางตำแหน่งของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ในตลาดโลก

รัฐบาลเกาหลีใต้

รัฐบาลของเกาหลีใต้ใช้นโยบายการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม (Industrial Policy) เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยในแต่ละช่วงเวลารัฐบาลจะกำหนดว่า จะมุ่งส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมใดเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

เริ่มจากในช่วงแรกที่เกาหลีใต้มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเบาก่อน เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานเป็นหลัก (Labor-intensive industry) โดยใช้นโยบายการค้าที่ส่งเสริมการส่งออก (Export-oriented trade policy) เป็นตัวสนับสนุน

ต่อมาเมื่อความได้เปรียบด้านแรงงานเริ่มหมดไป เกาหลีใต้จึงได้หันมาส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเคมีซึ่งเน้นการใช้ปัจจัยทุน (Capital-intensive heavy and chemical industries) ซึ่งในระยะนี้ รัฐบาลเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ระยะลอกเลียนแบบ (imitation) กระทั่งเริ่มมีการคิดค้นเทคโนโลยีของตนเองเต็มรูปแบบ

รัฐบาลเกาหลีใต้

ภายหลังเมื่อเกิดกระแสระเบียบการค้าเสรีในตลาดโลก ทำให้ประเทศเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากประเทศคู่ค้าให้มีการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนมากขึ้น ทำให้รัฐบาลไม่สามารถอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศได้เหมือนอย่างที่เคย จึงปรับเปลี่ยนนโยบายไปมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความได้เปรียบในคุณภาพและความหลากหลายของสินค้า (Product differentiation) เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในตลาดโลก

ทั้งนี้ มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Skill and technology intensive industries) เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) การพัฒนาทุนมนุษย์ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ มาเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาความได้เปรียบด้านทักษะและเทคโนโลยีตามเป้าหมาย

ในปัจจุบันรัฐบาลเกาหลียังคงมุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้เกิดขึ้นกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยหันมามุ่งเน้นการพัฒนาให้วัฒนธรรมเกาหลีกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเพลง ละคร หนัง เกม เป็นต้น เนื่องจากพบว่ากระแส Korean Wave นี้สามารถช่วยเปิดประตูทางการค้าในประเทศต่าง ๆ ที่กระแส K-POP ได้เข้าไปกรุยทางไว้ก่อนแล้ว เป็นเหมือนใบเบิกทางที่จะนำพารายได้จากการขายสินค้าและบริการของเกาหลีเข้าไปรุกในตลาดต่างประเทศง่ายขึ้น

shutterstock 1019002960

ดังเช่นความสำเร็จของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ของเกาหลี ที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นภายหลังที่ประเทศต่าง ๆเหล่านี้เกิดความนิยมในกระแสวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สินค้าเกษตร การท่องเที่ยว ธุรกิจศัลยกรรมตกแต่ง เครื่องสำอาง แฟชั่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

กล่าวได้ว่า รัฐบาลที่มีสมรรถนะสูงอย่างเช่น รัฐบาลของเกาหลีใต้ มีวิสัยทัศน์ที่สามารถมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันในตลาดโลก การเริ่มสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมไปถึงความพยายามในการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

จากนั้นก็จะกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมไปในทิศทางใด อุตสาหกรรมใดจะเป็นอุตสาหกรรมหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ควรจะต้องได้รับการส่งเสริม แล้วก็จะดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม

เกาหลี

เรียกว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ ชนะตั้งแต่การวางแผนไปกระทั่งถึงการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ (Policy and Implication) โดยการให้ความสำคัญอย่างมากต่อนโยบายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาทุนมนุษย์ การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความรู้ และการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เอง ที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่ผ่านมา

ตัวชี้วัดของความสำเร็จของภาครัฐของเกาหลีใต้ เห็นได้จากการพัฒนาทุนมนุษย์ที่สามารถวัดได้จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักวิจัยภายในประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีสามารถวัดได้จากการขยายตัวของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นอันดับสองของโลก

การพัฒนาด้านนวัตกรรมสามารถวัดได้จากการขยายตัวของการจดสิทธิบัตรและการครอบครองเทคโนโลยีสำคัญที่ถือเป็นอันดับหนึ่งของโลก การพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้สามารถวัดได้จากการเพิ่มคุณภาพของสินค้า (Quality Ladder of Product) และการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า (Expanding Variety of Product) หรือการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ สามารถวัดได้จากความสำเร็จในการสร้างให้วัฒนธรรมเกาหลีใต้ไปสู่กระแสความนิยมในตัวสินค้าและบริการจากประเทศเกาหลีใต้ไปทั่วโลก

คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงว่า รัฐบาลเกาหลีใต้นี่แหละ แชมป์เหรียญทองของการแข่งขันโอลิมปิกรัฐบาลโลกตัวจริง

บทความโดย ธนกร สังขรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่