COLUMNISTS

CSR ของร้านค้าชุมชน

Avatar photo
วีระพันธ์ โตมีบุญ อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

CSR ของร้านค้าชุมชน

การพัฒนาอาชีพและระบบสาธารณูปโภคระดับชุมชน หากริเริ่มก่อร่างสร้างสานจากคนในพื้นที่ ก็น่าจะได้ผลดี มีความต่อเนื่อง ยั่งยืน

นักวิชาการที่ปรึกษาของชาวบ้านท่านหนึ่ง เห็นว่าการเอากลเม็ดการเขียนแผนธุรกิจชนิดเดียวกับบริษัท ห้างร้านใหญ่มาสอนกิจการบ้านๆคงเอาดียาก จึงชักชวนบรรดาเจ้าของผลิตภัณฑ์ ร้านค้าเล็กๆ ร้านค้าชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีการค้าด้วยกัน ในนามของ วิถีการพัฒนาโดยชุมชน (Community Business Model Canvas) หรือ CBMC ..

ร้านค้าชุมชน

สิ่งที่แนะนำ เป็นศาสตร์การตลาดย่อๆ ศึกษากลไก จุดเด่น จุดด้อย (SWOT Analysis วิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพสำหรับการประกอบธุรกิจ) ของธุรกิจหรือบริการที่ทำอยู่  ยกทรัพยากรท้องถิ่นเป็นจุดเด่น เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ชุมชน  ค้นหาอัตลักษณ์ สื่อสารกับสังคมที่กว้างออกไป ไม่มุ่งแต่จะขายสินค้า มีส่วนร่วมในการพัฒนาคน พัฒนาองค์กร พัฒนาพื้นที่  ยึดโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์จังหวัด จนถึงตำบล 

ร้านค้าชุมชน

การสัมมนา เป็นรูปแบบการเรียนรู้ร่วมกัน มีพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำ ตัวพี่เลี้ยงเองก็ต้องฝึก ทำความเข้าใจกับ “พลังแฝง” โดย

  1. ฝึก ปลดปล่อยไม่ใช่ครอบงำ
  2. ฝึกทำความเข้าใจ”คำตอบอยู่ที่เขาเป้าหมายอยู่ที่เรา”
  3. ฝึกชวนคิดชวนคุยไม่ใช่บรรยาย
  4. ฝึก ฟังให้เป็นสื่อให้ถูก
  5. ฝึก ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
  6. ฝึก ทำตัวให้เล็กทำใจให้ใหญ่
  7. ฝึก เตือนตนเสมอว่า ‘อย่าล้ำหน้า อย่าล้าหลัง เดินไปพร้อมกับเขาแบบนำเขาก้าวหนึ่ง’

ใช้ระบบออนไลน์ ผ่านกลุ่มไลน์ ง่ายแต่เข้มข้น เรียนตั้งแต่หกโมงเย็นยันสองทุ่ม จบแล้ว นัดหกโมงเช้าวันรุ่งขึ้น ให้เริ่มคิดหาคำตอบให้ตนเอง นำมาอภิปรายช่วงพลบค่ำ ติดต่อกัน 6 วัน

สนุกและดี !!

ร้านค้าชุมชน

หญิง คลองวาฬ หรือสมหญิง ยศวิปาล เจ้าของร้านกาแฟที่ ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พี่เลี้ยงคนหนึ่งกลุ่มอบรม CBMC ซึ่งกิจการของเธอแบ่งรายได้ถ้วยละบาท ตั้งกองทุนช่วยชาวประมงพื้นบ้านหรือกิจการชุมชน บอกว่า หลักสูตรนี้ ทำให้ผู้ประกอบการใส่ใจ มีส่วนสนับสนุนกลุ่มเปราะบาง ร้านของเธอเป็นแหล่งช่วยจำหน่ายสินค้าประมงที่ขนาดไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ช่วยสำรวจ ดูแลคนยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง รับเรื่องราวร้องทุกข์ไปสื่อสารกับเทศบาลตั้งแต่เรื่องซ่อมบ้านคนจน ปัญหายาเสพติด จนถึงการหาทุนเพื่อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่ต้องการ เพราะงบประมาณของรัฐจำกัด

การช่วยเหลือชุมชนแบบนี้ คือ CSR (การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม)ที่กิจการขนาดใหญ่ จัดงบไว้ และสื่อสารให้สังคมรู้ แต่ CBMC สอนให้ธุรกิจเล็กๆในท้องที่ ดูแลเพื่อนบ้านเจือจานกันเองด้วยใจ หาข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.sethailand.org/cbmc-community-business-model-canvas/

รัฐควรเหลียวมาดู รับรู้ ใส่ใจ สนับสนุนให้เรื่องดีๆแบบนี้ขยายวงเติบใหญ่ขึ้น

ร้านค้าชุมชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่