Media

‘ทีวีดาวเทียม’ปรับตัวอย่างไร ในยุคเม็ดเงินโฆษณาหดตัว!!

อุตสาหกรรมสื่อ “เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม” เปลี่ยนแปลงมาต่อเนื่องในช่วง 10 ปีนี้  จุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2552 ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) หรือ กสทช.ในปัจจุบัน ได้พิจารณาจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตประกอบกิจการธุรกิจเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม ทำให้ทั้ง 2 กิจการ มีใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นครั้งแรก ไม่นับรวมกิจการเคเบิลทีวีระดับชาติ ที่เป็นรูปแบบสัมปทาน

ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีมี “ช่องใหม่” เกิดขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งมีการเข้ามาลงทุนของคอนเทนท์ โปรวายเดอร์รายใหญ่  ไม่ว่าจะเป็น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, กันตนา, อาร์เอส, เจเอสแอล รวมทั้ง เวิร์คพอยท์

อีกจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีครั้งสำคัญ เกิดขึ้นหลังประมูลทีวีดิจิทัล ช่วงปลายปี 2556 และเริ่มออกอากาศในเดือนเมษายน 2557  พบว่าช่วงปี 2553-2554 มีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม หรือ โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกขอใบอนุญาตประกอบกิจการจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวม 1,000 ช่อง  และได้ลดลงต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

โฆษณาเคเบิลและทีวีดาวเทียม

 ปี 56 โฆษณาพุ่ง “หมื่นล้าน” ปีหน้าเหลือ 1.8พันล้าน

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี  อาจสะท้อนได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่ใช้ในอุตสาหกรรมนี้  ข้อมูล นีลเส็น ประเทศไทย รายงานการใช้งบโฆษณาสื่อเคเบิลและทีวีดาวเทียม ก่อนยุคทีวีดิจิทัล คือ ปี 2555 มีมูลค่า 9,653 ล้านบาท เติบโต 29% ปี 2556 มูลค่า  11,853  ล้านบาท เติบโต 23% ถือเป็นยุคเฟืองฟูของ “ทีวีดาวเทียม” ที่สามารถเป็นเจ้าของช่องทีวีได้ด้วยงบลงทุนหลักสิบถึงร้อยล้าน

หลังจากเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล นับตั้งแต่ปี 2557 งบโฆษณาเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ลดลงต่อเนื่องถึงปัจจุบัน  โดยปี 2557 มีมูลค่า 7,232 ล้านบาท ลดลง 38.98% ปี 2558 มูลค่า 6,055 ล้านบาท  ลดลง 16.27%  ปี 2559 มูลค่า 3,495 ล้านบาท ลดลง 42.28%  ปี 2560 มูลค่า  2,913 ล้านบาท  ลดลง 15.57%

สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ประเมินภาพรวมการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อล่าสุด คาดว่าปี 2561 งบโฆษณาเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม มีมูลค่า 2,400 ล้านบาท  ลดลง 11%  และปี 2562  มีมูลค่า 1,800 ล้านบาท ลดลง 25% 

ขณะที่ภาพรวมโฆษณาสื่อทีวีทุกประเภท (ทีวีดิจิทัล เคเบิลและทีวีดาวเทียม) ปี 2560 มูลค่าอยู่ที่ 68,400 ล้านบาท  เติบโต 4%  และปี 2562  มูลค่า 71,000 ล้านบาท  เติบโต 4%   เช่นเดียวกับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2562 ที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ราว 4% หลังจากชะลอตัวนับตั้งแต่ปี 2559

นิพนธ์ นาคสมภพ
นิพนธ์ นาคสมภพ

โฆษณาทีวีดาวเทียมย้ายตามผู้ผลิตคอนเทนท์

สถานการณ์ทีวีดาวเทียมปัจจุบัน นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ให้มุมมองว่าเม็ดเงินโฆษณาเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมที่ลดลงต่อเนื่อง นับจากทีวีดิจิทัลออกอากาศ ปัจจัยหนึ่งมาจากงบโฆษณาทีวีดาวเทียมที่เคยอยู่กับผู้ผลิตรายการทางช่องทีวีดาวเทียม ย้ายตามคอนเทนท์โปรวายเดอร์ ที่ไปออกอากาศทางช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งมีจำนวน 22 ช่องในปัจจุบัน

อีกทั้งเจ้าของช่องทีวีดาวเทียม หลายช่องเป็นผู้ชนะประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เม็ดเงินโฆษณาจากเดิมที่เป็นช่องทีวีดาวเทียม จึงย้ายไปยังทีวีดิจิทัลด้วยเช่นกัน  การเติบโตของงบโฆษณาจึงไปอยู่ในช่องทางทีวีดิจิทัล

“ยุคก่อนทีวีดิจิทัล ผู้ผลิตคอนเทนท์ไม่มีช่องทางนำเสนอรายการ เพราะฟรีทีวีมีเพียง 6 ช่อง จึงใช้ช่องทางทีวีดาวเทียมออกอากาศ เมื่อเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล ผู้ผลิตรายการส่วนหนึ่งจึงเข้าประมูลใบอนุญาตเป็นเจ้าของช่องฟรีทีวี เม็ดเงินโฆษณาจึงไหลไปยังสื่อทีวีดิจิทัล”

ทีวีดาวเทียม พีเอสไอ psi

ปรับตัวออนไลน์-ทีวีช้อปปิ้ง

นิพนธ์ กล่าวว่ายุคก่อนทีวีดิจิทัล ปี 2555-2557 จำนวนช่องเคเบิลและทีวีดาวเทียมมากว่า 400-500 ช่อง  เป็นสมาชิกสมาคมฯ ราว 100 ราย ปัจจุบันคาดว่าเหลือประมาณ 300 ช่อง โดยเป็นช่องเคเบิลของทรูวิชั่นส์  200 ช่อง  และอีก 100 ช่อง เป็นทีวีดาวเทียมแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น พีเอสไอ ไอพีเอ็ม ขณะที่สมาชิกสมาคมฯ มีประมาณ 60 ราย

สำหรับช่องทีวีดาวเทียม ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน กลุ่มหลักคือ ช่องข่าว ที่นำเสนอเนื้อหาแตกต่างจากช่องทีวีดิจิทัล ทั้งข่าวทั่วไป ข่าวท้องถิ่น  ซึ่งมีแฟนประจำ  อีกกลุ่มคือ “ทีวีช้อปปิ้ง” ถือเป็นอีกผู้ประกอบการหลักในช่องทีวีดาวเทียม โดยมีรายได้หลักจากการขายสินค้า และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเห็นได้จาก  ช่องทีวีช้อปปิ้ง ทีวีดาวเทียม เข้าไปเช่าเวลาทีวีดิจิทัล ออกอากาศรายการหลายช่อง  ส่วนที่เหลือเป็นช่องบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์

ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมเองมีการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสื่อ โดยในกลุ่มผู้ผลิตคอนเทนท์  ได้ขยายสู่ช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์และยูทูบ แชนแนล เพื่อให้ผู้ชมมีช่องทางรับชมมากขึ้น  นอกจากนี้ได้เพิ่มโอกาสหารายได้ด้วยทำรายการรูปแบบ ทีวีช้อปปิ้ง ของช่องทีวีดาวเทียมเอง เพราะเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต

“มองว่าอีก 2-3 ปีจากนี้ สื่อทีวี ทั้งทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม จะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้ง เมื่อครัวเรือนไทยเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและไวไฟ เกิน  60-70%  รูปแบบการเสพสื่อจะเป็นบริการวีดิโอสตรีมมิ่งแบบ เน็ตฟลิกซ์ ที่มีราคาไม่แพงมากขึ้น”

Avatar photo