Media

กสทช. แจง (ร่าง) ประกาศกิจการกระจายเสียง เปลี่ยนผ่านเป็นใบอนุญาต

กสทช. ชี้แจงผลการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง 4 ฉบับ หลังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อเปลี่ยนผ่านสถานีวิทยุทดลองออกอากาศในระบบเอฟเอ็ม ไปสู่ระบใบอนุญาต

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานชี้แจงผลการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับผู้ทดลองออกอากาศในกิจการกระจายเสียง หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งได้มีการผ่อนคลายตามข้อเสนอของผู้ประกอบการในหลายประเด็น

ตามที่ กสทช. ชุดที่แล้ว มีมติให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศในระบบเอฟเอ็ม ทั้งในส่วนของวิทยุชุมชน สาธารณะ และธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3,809 สถานี (ชุมชน 156 สาธารณะ 592 และ ธุรกิจ 3,061 สถานี) ต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทำให้ กสทช. ชุดปัจจุบันต้องพิจารณาแนวทางดำเนินการ เพื่อให้ผู้ทดลองออกอากาศดังกล่าว เข้าสู่ระบบการอนุญาตอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

โดยได้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จากนั้นจึงได้นำความคิดเห็นที่ได้รับมาปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

กสทช.

1. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ที่ได้จัดทำแผนความถี่วิทยุตามมาตรฐานสากลสามารถรองรับการอนุญาตสถานีวิทยุเอฟเอ็มได้ 2,779 สถานี โดยปราศจากการรบกวน

แต่หลังการรับฟังความคิดเห็น ได้นำข้อคิดเห็นที่ดีและเหมาะสมโดยที่ไม่ผิดกฎหมายมาผ่อนคลายเงื่อนไข คือ

  1. การรบกวนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องไปทำความตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านภายหลัง
  2. การรบกวนที่เกิดจากการใช้งานความถี่ข้างเคียง
  3. การให้ย้ายที่ตั้งได้ภายในอำเภอนั้น ทำให้สามารถมีคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นเป็น 3,346 สถานี จากเดิม 2,779 สถานี (เพิ่มขึ้น 567 สถานี) คงเหลือเฉพาะเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการรบกวนกับสถานีที่ได้รับการอนุญาตแล้ว ซึ่งไม่สามารถผ่อนคลายได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย

โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ที่ต้องมีสัดส่วนการอนุญาตให้แก่สถานีวิทยุประเภทชุมชน และสาธารณะไม่น้อยกว่า 25% จึงได้กำหนดจำนวนคลื่นความถี่ให้วิทยุชุมชน และสาธารณะจำนวน 838 สถานี และวิทยุธุรกิจจำนวน 2,508 สถานี

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสถานีวิทยุชุมชน และสาธารณะที่มีอยู่ปัจจุบันรวม 748 สถานี นั้น ตามแผนฉบับนี้ มีคลื่นความถี่รองรับได้ทั้งหมดและสามารถมีสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะเกิดใหม่ได้อีก 90 สถานี

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีวิทยุธุรกิจที่คลื่นความถี่ไม่รองรับกับจำนวนสถานีปัจจุบันอีก 553 คลื่นความถี่ จึงได้มีข้อเสนอ 2 แนวทาง คือ

  1. ต้องทำการทดลองทดสอบในภาคสนามจริง ให้เป็นที่ปรากฏว่าไม่ก่อให้เกิดการรบกวนกับสถานีวิทยุที่ได้รับการอนุญาตแล้ว
  2. ดำเนินการออกอากาศในระบบวิทยุดิจิทัล ที่จะเปิดโอกาสให้มีการทดลองทดสอบคู่ขนานในปีนี้

แผนการดำเนินการ

กสทช.

2. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียง ต่อกิจการวิทยุการบิน

คงเป็นไปตามที่เสนอ ซึ่งมีข้อคิดเห็นในรายละเอียดเล็กน้อย ด้วยการปรับลดขั้นตอนการส่งรายงานทางด้านเทคนิค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยยังคงมีความเป็นมาตรฐานตามหลักสากล เช่นเดิม

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์  ระบุว่า ข้อเสนอของผู้ประกอบการที่คัดค้านส่วนมากได้แก่ ไม่ต้องให้มีการประมูล รวมทั้งอนุญาตให้สถานีที่ทดลองออกอากาศอยู่เดิม ได้รับอนุญาตต่อเลยนั้น เป็นสิ่งที่ กสทช. กระทำไม่ได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย

“ที่มีผู้เสนอให้แก้ไขกฎหมายนั้น ส่วนตัวผมไม่ขัดข้อง เพราะเป็นเรื่องนโยบายที่ทางรัฐบาลเป็นผู้พิจารณา เพียงแต่ปัจจุบัน บทบัญญัติของกฎหมายกำหนดเช่นนี้ ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบก็ต้องดำเนินการตามที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด ซึ่งสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะไม่ต้องประมูลอยู่แล้วก็จะได้เข้าสู่ระบบ”

ตามแผน กสทช. จะออกประกาศเชิญชวนให้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 นี้ เพื่อให้สถานีวิทยุได้ออกอากาศต่อในปี 2568 โดยเป็นการเข้าสู่ระบบที่มีการพัฒนาทั้งรูปแบบและคุณภาพตามมาตรฐานสากล

กสทช.
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

ส่วนสถานีวิทยุธุรกิจก็ควรเข้าสู่ระบบการอนุญาต เพียงแต่จะใช้วิธีประมูลหรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมาย โดยอาจมีการพิจารณาขยายระยะเวลาสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่ระบบใบอนุญาตระหว่างรอความชัดเจนของกฎหมาย

ทั้งปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้มีการทดลองทดสอบวิทยุระบบดิจิทัลโดยประชาชน หรือผู้ทดลองออกอากาศอยู่เดิม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และพัฒนาระบบด้วยตนเองก่อนที่หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตในวิทยุระบบดิจิทัลจะแล้วเสร็จในปีหน้า เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงทั้งรายเก่าและรายใหม่ สามารถดำเนินการได้ให้สอดคล้องกับบริบทและเทคโนโลยีในปัจจุบัน

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ย้ำว่า ต้องการพัฒนากิจการกระจายเสียง ที่ไม่เคยพัฒนามานานกว่า 30 ปี เพื่อให้กิจการกระจายเสียงไทย ยังคงดำรงการสร้างสรรค์สังคม และเศรษฐกิจให้ยั่งยืนต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight